ศาลอาญามีคำพิพากษากรณี บริษัท โกลบัลวิว คอนซัลติ้ง จำกัด ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ลงโทษปรับกว่า 28 ล้านบาท
เผยแพร่: 18 พ.ค. 2563 13:35 น. ปรับรุง: 18 พ.ค. 2563 13:35 น. เปิดอ่าน 4602 ครั้งศาลอาญามีคำพิพากษากรณี บริษัท โกลบัลวิว คอนซัลติ้ง จำกัด
ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ลงโทษปรับกว่า 28 ล้านบาท
ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษที่ 111/2558 กรณี บริษัท โกลบัลวิว คอนซัลติ้ง จำกัด (ชื่อเดิม บริษัท อี-ชาร์ดเตอร์ เมเนจเมนท์ จำกัด) โดย นายอารยะ พยุงวิวัฒนกูล กับพวก รวม 17 คน ร่วมกันทำการโฆษณาชักชวนประชาชนเพื่อให้มาลงทุนกับบริษัท อีซีที แคปปิตอล เมเนจเมนท์ จำกัด ซึ่งต่อมาได้ควบรวมกิจการกับบริษัท ควันตัม เบนชมาร์ค คอร์ป จำกัด และเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ควันตัม เบนชมาร์ค คอร์ป จำกัด โดยอ้างว่าแบ่งผลกำไรที่ได้ให้แก่ผู้ลงทุนเป็นรายเดือนในอัตราร้อยละ 0.75 - 2.5 ต่อเดือน คิดเป็นร้อยละ 9 - 30 ต่อปี อันเป็นการตกลงจ่ายหรืออาจจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้ร่วมลงทุนเป็นอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ ซึ่งต่อมา บริษัท โกลบัลวิว คอนซัลติ้ง จำกัด ไม่จ่ายผลตอบแทนให้กับผู้ลงทุน อ้างว่าผู้บริหารชาวต่างชาติหลบหนีไป เป็นเหตุให้ผู้ลงทุนได้รับความเสียหาย โดยมีผู้เสียหายมาร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจำนวน 57 ราย รวมมูลค่าความเสียหาย 120,241,878 บาท ซึ่งจากการสอบสวน ไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับการโอนเงินลงทุนของบรรดาผู้ลงทุนต่อไปยังบริษัทต่างชาติ จึงเชื่อได้ว่า ไม่มีการนำเงินของผู้ลงทุนไปร่วมลงทุนในกองทุนของบริษัทต่างชาติทั้งสองบริษัทข้างต้นแต่อย่างใด การกระทำของบริษัท โกลบัลวิว คอนซัลติ้ง จำกัด จึงเป็นความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน อันเป็นความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527
ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2563 ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาคดีดังกล่าวว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคหนึ่ง พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง มาตรา 5 (1) (ก) (จ) (2), มาตรา 9 และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ปรับกระทงละ 1,000,000 บาท รวม 57 กระทง เป็นปรับ 57,000,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับกระทงละ 500,000 บาท รวมปรับจำเลยเป็นเงิน 28,500,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และให้จำเลยร่วมกันคืนต้นเงิน (เงินที่นำมาร่วมลงทุน) ให้แก่ผู้เสียหายแต่ละรายตามจำนวนที่ผู้เสียหายแต่ละรายนำมาให้จำเลยกับพวกกู้ยืมแล้วยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ได้กู้ยืมเงินผู้เสียหายแต่ละรายจนกว่าจะชำระเสร็จ
กรมสอบสวนคดีพิเศษมีความมุ่งมั่นในการสืบสวน สอบสวน ป้องกัน และปราบปราม อาชญากรรมพิเศษอย่างต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอแจ้งเตือนไปยังประชาชน ให้ระมัดระวังการชักชวนให้ลงทุนที่อ้างว่าจะให้ผลตอบแทนสูงกว่าอัตราที่สถาบันการเงินพึงจ่ายได้ แม้ว่าจะมีการสร้างความน่าเชื่อถือด้วยวิธีต่าง ๆ หรือมีการโฆษณาชวนเชื่อ ขออย่าได้ไว้วางใจ และขอให้ตรวจสอบความเป็นมาของบริษัทหรือประวัติของผู้ชักชวนให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน และหากประชาชนมีข้อมูลหรือเบาะแส สามารถแจ้งมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ที่ เลขที่ 128 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร หรือทางสายด่วน DSI Call Center 1202 (โทร.ฟรีทั่วประเทศ) โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษจะเก็บรักษาข้อมูลผู้แจ้งเบาะแสไว้เป็นความลับ
************************************************