DSI แสดงศักยภาพด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม
เผยแพร่: 27 ธ.ค. 2562 13:41 น. ปรับรุง: 10 ม.ค. 2563 10:31 น. เปิดอ่าน 4240 ครั้งDSI แสดงศักยภาพด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม
พันตำรวจเอก ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า ปัจจุบันมีการบุกรุกที่ดินของรัฐและตัดไม้ทำลายป่าเพิ่มมากขึ้น ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพที่เคยอุดมสมบูรณ์ เช่น ป่าไม้ สัตว์ป่า พันธุ์พืช และแร่ธาตุ ถูกทำลายหรือนำไปใช้ประโยชน์ทางพาณิชย์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งปัญหาภาวะมลพิษมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยทั่วโลกกำลังประสบกับปัญหาภัยธรรมชาติ ทั้งภาวะโลกร้อน ภัยแล้ง และมลพิษในอากาศ กรมสอบสวนคดีพิเศษตระหนักในปัญหาดังกล่าว จึงได้มุ่งมั่นในการทุ่มเทสรรพกำลังเพื่อรักษาความมั่นคงของทรัพยากรธรรมชาติ โดยให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ ตลอดจนดำเนินการเชิงรุกในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมพิเศษที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและผู้บริโภค โดยใช้มาตรการทางกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด ซึ่งมีกฎหมายที่กรมสอบสวนคดีพิเศษรับผิดชอบในกลุ่มคดีด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย ความผิดอาญาเกี่ยวกับที่ดิน, ป่าไม้, ป่าสงวนแห่งชาติ, อุทยานแห่งชาติ, การสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า, วัตถุอันตราย, แร่ และความผิดอื่นที่มีลักษณะเดียวกัน โดยในห้วงปี 2562 กรมสอบสวนคดีพิเศษมีผลการดำเนินคดีอาชญากรรมที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภค สิ่งแวดล้อม และเกี่ยวกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ที่สอบสวนเสร็จสิ้นแล้วจำนวน 17 คดี มีมูลค่าความเสียหายประมาณ 32,900.90 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยคดีสำคัญ ดังนี้
(1) คดีการออกเอกสารสิทธิที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถ จังหวัดภูเก็ต ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับไว้เป็นคดีพิเศษทั้งสิ้น 11 คดี เนื้อที่รวม 602 ไร่ มูลค่าความเสียหายกว่า 22,403 ล้านบาท ซึ่งได้ดำเนินการส่งสำนวนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว โดยบางส่วนส่งให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป บางคดีอยู่ในการพิจารณาคดีของอัยการ และบางคดีอยู่ในการพิจารณาคดีของศาล ซึ่งล่าสุด ศาลอาญาได้มีคำพิพากษากรณีการออกเอกสารสิทธิตามโฉนดที่ดิน เลขที่ 42053 และ 42054 ตำบลสาคู อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เนื้อที่รวม 93 ไร่ มีการอ้างหลักฐานแจ้งการครอบครอง ส.ค.1 เพื่อใช้ประกอบในการขอออกเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดิน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 800 ล้านบาท (ตามราคาซื้อขายที่ดินแปลงพิพาท) ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษรับไว้เป็นคดีพิเศษที่ 19/2558 โดยสรุปคำพิพากษา
ได้ว่า นายเอนก ลีประชา (ประชา) จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484
พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ประมวลกฎหมายที่ดิน และประมวลกฎหมายอาญา เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป รวมจำคุก 15 ปี แต่ทางนำสืบในชั้นพิจารณานับว่าเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา ลดโทษหนึ่งในสาม คงจำคุก 10 ปี และมีคำสั่งให้จำเลยที่ 3 คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยที่ 3 กับพวก ออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตอุทยานแห่งชาติและเขตป่า และให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 42053, 48252, 48253, 42054 ตำบลสาคู อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต
(2) คดีเหมืองแร่ทองคำ บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด หรือบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เข้ายึดถือครอบครองพื้นที่ป่าและรุกล้ำเขตพื้นที่ทางหลวง ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับเป็นคดีพิเศษเมื่อปี 2559 โดยสำนวนการสอบสวนแบ่งเป็น 2 คดี ได้แก่
- คดีการดำเนินกิจการเหมืองแร่โดยเข้ายึดถือครอบครองพื้นที่ป่าและรุกล้ำเขตพื้นที่ทางหลวง บริเวณตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร และตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษรับเป็นคดีพิเศษที่ 17/2559 โดยได้ดำเนินการส่งกรณีพบการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2561 ส่วนประเด็นที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช. แต่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ได้ส่งให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2561 ได้แก่ กรณีเจ้าหน้าที่ถูกกล่าวหาว่ามีการออกโฉนดโดยมิชอบ โดยมีบริษัทเอกชนร่วมสนับสนุนการกระทำความผิด และกรณีบริษัท อัคราฯ และพวก รวม 2 คน ในความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 และพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535
- คดีการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด หรือบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ก่อให้เกิดมลพิษในพื้นที่บริเวณอำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร กรมสอบสวนคดีพิเศษรับเป็นคดีพิเศษที่ 39/2562 ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2562 ในความผิดตามพระราชบัญญัติโรงงาน, พระราชบัญญัติแร่ และพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
(3) คดีการนำเข้ามาในราชอาณาจักร และจำหน่ายสินค้าเสริมความงาม เช่น โบท็อกซ์ ฟิลเลอร์ เป็นผลิตภัณฑ์ยาที่ละเมิดเครื่องหมายการค้าทั้งปลอมและเลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักร และผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาจาก อย.จำหน่ายให้กับลูกค้า ซึ่งเป็นการสืบสวนแกะรอยเส้นทางการเงินจากการจับกุมเมื่อปี 2560 จนพบเบาะแสการกระทำความผิดของเครือข่ายดังกล่าว ซึ่งเชื่อมโยงมาถึงเครือข่ายนำเข้าโบท็อกซ์ และฟิลเลอร์ปลอมรายใหญ่ จึงได้เข้าล่อซื้อและนำของกลางส่งตรวจพิสูจน์หลักฐานชัดเจนว่าเป็นสินค้าปลอม เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2562 จึงขอศาลออกหมายค้นจำนวน 12 จุด ผลการตรวจค้นสามารถยึดของกลางได้กว่า 400,000 ชิ้น มูลค่ากว่า 80 ล้านบาท และจากการตรวจสอบเส้นทางการเงินย้อนหลังพบเงินหมุนเวียนในบัญชีสูงถึง 800 ล้านบาท ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษจะดำเนินการตามกฎหมายฟอกเงินต่อไป
(4) คดีการนำสารพาราควอตไดคลอไรด์ และไกลโพเซต – ไอโซโพรพิลแอมโมเนียม ซึ่งเป็นสารควบคุมตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ที่เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 มาผสมกับผลิตภัณฑ์ชีวภาพอินทรีย์โดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย และขายผ่านทางสื่อโซเซียลมีเดีย ทำให้ผู้ซื้อไปใช้เข้าใจผิดคิดว่าผลิตภัณฑ์ชีวภาพดังกล่าวไม่มีผลต่อสุขภาพ เป็นเหตุทำให้ผู้ซื้อได้รับอันตรายต่อสุขภาพจากการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ซึ่งการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และตามประกาศคณะกรรมการคดีพิเศษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 เรื่อง กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษ ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 โดยคดีนี้จากการสืบสวนเบื้องต้นน่าเชื่อว่ามีความเสียหายมากกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไป และมีผู้ได้รับผลกระทบจากวัตถุอันตรายดังกล่าวมากว่า 1,000 ราย โดยเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2562 กรมสอบสวนคดีพิเศษได้บูรณาการร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และกรมวิชาการเกษตร บุกค้น 5 จุดในจังหวัดปทุมธานี และจังหวัดนครราชสีมา โดยสามารถยึดผลิตภัณฑ์ต่างๆ และเอกสารที่เกี่ยวข้องได้เป็นจำนวนมาก รวมทั้งได้มีการอายัดอุปกรณ์การผลิตไว้เพื่อทำการตรวจสอบ ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งดำเนินคดีและสรุปสำนวนเพื่อส่งพนักงานอัยการฟ้องคดีต่อไป
นอกจากนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษยังได้รับกรณีที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมไว้เป็นเรื่องสืบสวนอีกหลายกรณี ทั้งนี้ เพื่อขยายผลและรับเป็นคดีพิเศษต่อไป
************************************************