รมว.ยุติธรรม รับฟังกลุ่มผู้เสียหายสหกรณ์สวนปาล์มน้ำมันกระบี่ เดินหน้าแก้ปัญหา ส่งให้ DSI เกาะติด พร้อมประสาน รมว.เกษตรและสหกรณ์ทราบและร่วมแก้ไขปัญหา
เผยแพร่: 15 พ.ย. 2564 18:41 น. ปรับรุง: 8 ก.พ. 2565 15:47 น. เปิดอ่าน 1984 ครั้ง ENรมว.ยุติธรรม รับฟังกลุ่มผู้เสียหายสหกรณ์สวนปาล์มน้ำมันกระบี่ เดินหน้าแก้ปัญหา ส่งให้ DSI เกาะติด พร้อมประสาน รมว.เกษตรและสหกรณ์ทราบและร่วมแก้ไขปัญหา
วันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2564 เวลา 15.30 น. ที่มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตกระบี่ จังหวัดกระบี่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยนายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับเรื่องร้องทุกข์จากตัวแทนสมาชิกเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันซึ่งเป็นผู้เสียหาย จำนวนกว่า 200 คน จากการร่วมทุนของสมาชิกสหกรณ์ในพื้นที่หลายจังหวัดในภาคใต้ตอนบน มีผู้เสียหายหรือผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดกว่า50,000 ครัวเรือน
สืบเนื่องจาก ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการบริหารจัดการปาล์มน้ำมันอย่างเป็นระบบ มีหนังสือถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอให้ตรวจสอบ กรณี การทุจริตและยักยอกทรัพย์ในชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันจังหวัดกระบี่ โดยนายสนอง ปานแดง อดีตกรรมการและพนักงานชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันจังหวัดกระบี่สาขาคลองท่อม เป็นผู้แทนประธานชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันจังหวัดกระบี่ ระบุว่า ทางคณะกรรมาธิการฯปาล์มน้ำมัน ได้ลงพื้นที่ในจังหวัดที่มีการปลูกปาล์มน้ำมัน พบว่า ปัญหาโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มของชุมนุมสหกรณ์จังหวัดกระบี่ ซึ่งมีการบริหารจัดการโดยสมาชิก 13 สหกรณ์ และ 34 เครือข่ายสหกรณ์ ในระยะหลังประสบปัญหาขาดทุนและต้องปิดตัวลง ทำให้เกิดความเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งจากการศึกษาของกรรมาธิการฯ พบพิรุธในเรื่องบริหารจัดการฯ จึงได้ร้องทุกข์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อให้สืบสวนสอบสวนเรื่องดังกล่าว
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ผมในนามของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีหน้าที่ในการอำนวยความยุติธรรม สนับสนุนการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมพิเศษ ปัญหาของชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ เป็นปัญหาของประชาชน ของสังคมที่มีความสำคัญ กระทบกับชาวบ้านพี่น้องประชาชน มากมายถึง 50,000 ครัวเรือน ที่รัฐบาลและกระทรวงยุติธรรมจะต้องดูแลไม่ทอดทิ้ง ในวันนี้ผมได้เข้ามาพบเครือข่ายของผู้ที่ได้รับความเสียหาย จากการที่โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มในจังหวัดกระบี่ได้ปิดตัวลง ส่งผลกระทบต่อสมาชิกชมรมฯ ในวงกว้าง จากที่ได้รับคำชี้แจงจากตัวแทนผู้เสียหายหลายท่าน ไม่ว่ากลุ่มที่เป็นอดีตพนักงานของชุมนุมสหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับความเสียหาย สามารถแบ่งแยกความเดือดร้อน เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือกลุ่มแรก เป็นกลุ่มสมาชิกที่ได้รับความเดือดร้อนจากการดำเนินการของอดีตผู้บริหารชุมนุมสหกรณ์ที่ทำให้เสียหาย ซึ่งในส่วนนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินการอยู่ จะกำชับให้รีบดำเนินการเพื่อทำให้ความจริงปรากฎ และหากพบเข้าข่ายเป็นคดีพิเศษก็ให้ดำเนินคดีไปตามกฎหมายการสอบสวนคดีพิเศษ และกลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มของพนักงานที่ถูกเลิกจ้างแล้วได้เงินชดเชยและเงินอื่นที่พึงได้ไม่ครบ และปัญหาการบริหารงานของสหกรณ์ในชุดปัจจุบัน ขาดสภาพคล่องและต้องการแหล่งเงินกู้ของรัฐบาล เพื่อเสริมสภาพคล่อง
รวมถึงการขอให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธกส. งดดอกเบี้ยเงินกู้ที่ชุมนุมสหกรณ์ฯ ได้กู้ยืมมาก่อนหน้านี้ ประมาณ 72 ล้านบาท ซึ่งสามารถดำเนินการได้ 2 ทางเลือก คือ แนวทางแรกสามารถยื่นเรื่องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกร์โดยตรง หรือแนวทางที่สอง สามารถยื่นเรื่องต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อประสานส่งต่อเรื่องไปยังหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ต่อไป
ทางด้านนายไตรยฤทธิ์ อธิบดีดีเอสไอ ได้กล่าวว่า หลังจากที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับเรื่องดังกล่าว โดยได้รายงานท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ท่านสมศักดิ์ เทพสุทิน ท่านได้กำชับให้กรมฯ เร่งสืบสวน หาพยานหลักฐาน ผมจึงได้มอบหมายให้ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษ พื้นที่ 8 และกองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ร่วมกันสืบสวน เพื่อพิจารณาว่าเรื่องดังกล่าว มีลักษณะการกระทำความผิดในลักษณะใด มีผลกระทบต่อสมาชิกเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันเป็นจำนวนมาก มีความเสียหายเป็นวงกว้างและมีมูลค่าความเสียหายเป็นจำนวนมาก โดยเบื้องต้น ได้รับรายงานว่ากรณีดังกล่าวได้มีการกระทำความผิดทางอาญาจริง ซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณาว่าจะเข้าข่ายเป็นคดีพิเศษ หรือไม่ หากไม่ใช่คดีพิเศษ ผมจะนำเรื่อง แจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องให้ดำเนินการต่อไป