DSI ดำเนินคดีผู้ต้องหาคดีแชร์ลูกโซ่ ส่งอัยการฟ้องศาล และแจ้งเตือนประชาชน
เผยแพร่: 2 มิ.ย. 2566 13:18 น. ปรับรุง: 2 มิ.ย. 2566 13:18 น. เปิดอ่าน 684 ครั้ง จากกรณีที่ศูนย์สืบสวนสะกดรอยและการข่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษ เข้าจับกุม 2 ผู้ต้องหาคดีแชร์ลูกโซ่ในคดีพิเศษที่ 49/2564 โดยทั้งสองเป็นพี่น้องกัน ซึ่งต้องหาว่าร่วมกันฉ้อโกงประชาชนและร่วมกันกู้ยืมเงิน
อันเป็นการฉ้อโกงประชาชน ล่าสุดวันนี้ พันตำรวจตรี วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ หน่วยงานที่รับผิดชอบการสอบสวน ได้มอบหมายให้นางนันท์นภัส เกยุราพันธ์ ผู้อำนวยการส่วนคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ 1 กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ ร่วมกับคณะพนักงานสอบสวนและเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษ
กรมสอบสวนคดีพิเศษ ควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้งสองส่งพนักงานอัยการจังหวัดตราดเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดตราดแล้ว
กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ทำการสืบสวนสอบสวนคดีอาญา กรณีกลุ่มบุคคล
โดยร่วมกันประกาศขายสลากกินแบ่งรัฐบาลผ่านบัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัวของกลุ่มและเพจเฟซบุ๊ก ชื่อ “บ้านรวยโชค” โดยเชิญชวนให้คนมาซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลกับกลุ่มของตน พร้อมแสดงความน่าเชื่อถือด้วยการโพสต์ภาพถ่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นมัดกองอยู่เป็นจำนวนมาก และแจ้งไอดีไลน์ชื่อ @baanruaychok ให้ผู้สนใจติดต่อซื้อทางแอปพลิเคชันไลน์ชื่อ “บ้านรวยโชค” หรือติอต่อไปยังโปรแกรมเฟซบุ๊กบัญชีชื่อ Ruaychok Ruaychok
บัญชีชื่อ Jinn Prasarnpong และบัญชีชื่อ BJ Kritpob Ruaychok และเมื่อมีผู้สนใจติดต่อมาจะมีการชักชวน
ให้ซื้อสลากฯ กับกลุ่มของตน โดยแจ้งข้อเท็จจริงให้ผู้สนใจทราบ ในทำนองเดียวกันว่ากลุ่มของตนเป็นผู้ได้รับโควต้าสลากกินแบ่งรัฐบาลจากยี่ปั๊วรายใหญ่มาจำหน่ายเป็นจำนวนมาก จนมีผู้เสียหายเป็นจำนวนมากหลงเชื่อสั่งซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลจากกลุ่มคนร้ายเป็นจำนวนเพิ่มมากขึ้น กลุ่มคนร้ายจึงชักชวนให้ร่วมลงทุนฯ
โดยกำหนดรูปแบบการลงทุนเป็น 2 แบบ คือ
1. แบบฝากขายสลากฯ โดยกลุ่มผู้เสียหายที่ร่วมลงทุนซื้อสลากฯ ไม่ต้องรับสลากฯ ไปขายเองกลุ่มคนร้ายจะเป็นผู้นำสลากที่สั่งซื้อไปขายต่อให้โดยให้ผลประโยชน์ตอบแทนเป็นส่วนต่างของราคาที่กลุ่มคนร้ายได้นำสลากฯ ที่สั่งซื้อออกขาย ในส่วนของการร่วมลงทุนฝากขายสลากฯ กลุ่มผู้เสียหายจะได้รับผลประโยชน์
ตอบแทนหลังจากที่ชำระเงินลงทุนประมาณ 15 - 20 วัน คำนวณเป็นผลตอบแทนตั้งแต่ประมาณร้อยละ 60 ต่อปี จนถึงร้อยละ 1,800 ต่อปี อันเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ ซึ่งช่วงเวลาเกิดเหตุ
อยู่ที่เพียงอัตราร้อยละ 3.8 ต่อปี และ
2. แบบการรับสลากฯ จากกลุ่มผู้ต้องหาไปขายเอง โดยกลุ่มคนร้ายจะแจ้งราคาในการสั่งซื้อสลากฯ พร้อมให้กลุ่มผู้เสียหายชำระเงินก่อนหน้าวันที่ออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลประมาณ 1 เดือน โดยกลุ่มผู้เสียหายที่ลงทุนในรูปแบบรับสลากฯ จะได้รับสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่สั่งซื้อก่อนหน้าวันที่ออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลประมาณ 10 วัน ต่อมาตามวันเวลาเกิดเหตุ ในการสั่งซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลงวดการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลประจำวันที่ 16 พฤษภาคม 2564 และงวดประจำวันที่ 1 มิถุนายน 2564 กลุ่มคนร้ายไม่มีสินค้าสลากกินแบ่งรัฐบาลให้กับกลุ่มผู้เสียหายที่สั่งซื้อสลากฯ
ตามแบบการลงทุนที่ 2 และกลุ่มคนร้ายก็มิได้เป็นผู้แทนจำหน่ายสลากกินแบ่งของรัฐบาลแต่อย่างใด รวมทั้งไม่ได้จ่ายผลประโยชน์ตอบแทนกับกลุ่มผู้เสียหายที่ร่วมลงทุนขายฝากกินแบ่งรัฐบาลตามแบบการลงทุนที่ 1 ด้วย
เป็นเหตุให้กลุ่มผู้เสียหายได้รับความเสียหาย ซึ่งเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ร่วมกันกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน โดยคดีสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว มีการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาทั้งหมดรวม 17 คน และส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ ต่อมาระหว่างการพิจารณาคดี
ที่ศาลอาญา ศาลได้อนุญาตให้โอนคดีไปยังศาลจังหวัดตราดและอัยการสูงสุดได้มีคำสั่งให้โอนคดีให้พนักงานอัยการจังหวัดตราดเป็นผู้ดำเนินคดีต่อเพื่อความสะดวกเนื่องจากพยาน ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ จึงมีการควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้งสองซึ่งเป็นพี่น้องกัน นำส่งพนักงานอัยการจังหวัดตราด เพื่อยื่นฟ้องต่อศาลต่อไป
“กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ ขอแจ้งเตือนไปยังสาธารณชนว่า ปัจจุบันมีการหลอกลวงประชาชนเพื่อให้ลงทุนในธุรกิจต่าง ๆ โดยเสนอผลตอบแทนสูงจำนวนมาก และมักใช้รูปแบบการลงทุนที่กล่าวอ้างถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น การใช้ AI Artificial Intelligence หรือระบบปัญญาประดิษฐ์ มาช่วยในการตัดสินใจลงทุน มีการรับประกันเงินลงทุนร้อยละร้อย การใช้สินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้แทนเงินตราจริงในการลงทุนเพื่อให้ดู
ว่าเป็นเรื่องทันสมัย ขณะเดียวกันก็ทำให้ยากแก่การทำความเข้าใจของผู้เสียหายทั่วไป และเกิดกลุ่มผู้กระทำผิดรายใหม่ ๆ ที่เข้ามาทำหน้าที่นายหน้าแปลงเงินตราจริง เป็นเงินดิจิทัล ทำให้การกระทำผิดมีความซับซ้อนขึ้น รวมทั้งมีการชักชวนให้ซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนเงินต่างประเทศ หรือ FOREX ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยไม่เคยอนุญาตให้เอกชนรายใดดำเนินธุรกิจดังกล่าว และการดำเนินธุรกิจโดยฝ่าฝืนกฎหมาย จะเป็นความผิด
ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ซึ่งสามารถตรวจสอบการอนุญาต
เรื่องดังกล่าวได้ที่เว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย และเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่พี่น้องประชาชน
ในการประเมินความเสี่ยงก่อนการลงทุน กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ ได้จัดทำระบบ LINE Offical เพื่อตอบคำถามข้อสงสัยในการลงทุน ชื่อ “Checkdidsi” โดยสามารถเข้าไปเป็นสมาชิกได้ที่ LINE > เพิ่มเพื่อน > ค้นหา > @Checkdidsi หรือไปยังเว็บไซต์กรมสอบสวนคดีพิเศษ www.dsi.go.th > ข้อมูลกราฟฟิก ซึ่งจะมีแหล่งให้ข้อมูลความรู้ในเรื่องต่าง ๆ ที่เป็นภัยสังคม โดยกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ มีความมุ่งมั่น
ในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมที่เกี่ยวกับธุรกิจการเงินนอกระบบอย่างมืออาชีพ มีวิสัยทัศน์ และใส่ใจให้บริการ” พันตำรวจตรีวรณัน กล่าว