ดีเอสไอ โชว์ผลการดำเนินคดีพิเศษด้านอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ปี 2562

เผยแพร่: 26 ธ.ค. 2562 16:29 น. ปรับปรุง: 26 ธ.ค. 2562 16:29 น. เปิดอ่าน 6597 ครั้ง  
 

ดีเอสไอ โชว์ผลการดำเนินคดีพิเศษด้านอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ปี 2562

พันตำรวจเอก ไพสิฐ  วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า การพัฒนาของสังคมโซเชียลในยุคดิจิทัลมีความรวดเร็ว กระจายอย่างทั่วถึงประชากรทุกวัยทั่วประเทศ มีภัยร้ายที่แฝงมากับการแข่งขันทางเศรษฐกิจ การพัฒนาที่ทันสมัย สังคมบริโภคนิยม อาชญากรมีการกระทำผิดที่เป็นองค์กรอาชญากรรมมากขึ้น รูปแบบอาชญากรรมมีแนวโน้มสลับซับซ้อนกระทำเป็นโครงข่าย ส่งผลความเสียหายต่อเศรษฐกิจรายได้ของประชาชนในวงกว้าง ผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบมีจำนวนมากทั้งประชาชนทั่วไปและผู้มีการศึกษา รายได้สูง อาชญากรมักใช้โซเชียลเป็นเครื่องมือ จึงง่ายต่อการเข้าถึงในการหลอกลวงทำให้มีผู้เสียหายจำนวนมาก โดยมีกฎหมายที่กรมสอบสวนคดีพิเศษรับผิดชอบในกลุ่มคดีด้านอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ประกอบด้วย ความผิดอาญาเกี่ยวกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, ธุรกิจสถาบันการเงิน, บริษัทมหาชน, ภาษีตามประมวลรัษฎากร, ภาษีสรรพสามิต, ศุลกากร, การแลกเปลี่ยนเงินตรา, การฟอกเงิน และการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน เป็นต้น โดยในปี 2562 ผลการดำเนินคดีพิเศษด้านอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ มีการดำเนินคดีเสร็จ 185 คดี ประกอบด้วยคดีสำคัญ ดังนี้ 
       (1) คดีการลักลอบนำรถยนต์หรูที่ยังไม่ได้เสียภาษีหรือยังไม่ได้ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักร และการนำเข้ารถยนต์ใช้แล้วเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจดประกอบเป็นรถยนต์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเพื่อหลีกเลี่ยงอากร และการสำแดงเท็จเกี่ยวกับการนำเข้ารถยนต์ไม่ตรงกับหลักฐานเอกสารและข้อเท็จจริงในการนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยสำแดงเท็จ หลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากร ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษรับเป็นคดีพิเศษ รวม 207 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ 135 เรื่อง อยู่ระหว่างดำเนินการ 72 เรื่อง
       (2) คดีการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ในการชักชวนให้ร่วมลงทุนซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (FOREX 3D) ซึ่งมีผู้เสียหายประมาณ 13,544 คน มูลค่าความเสียหาย ประมาณ 2,686,000 บาท ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษรับเป็น
คดีพิเศษที่ 153/2562 และได้ติดตามยึดอายัดทรัพย์สินที่ต้องสงสัยว่าได้มาจากการกระทำความผิดมูลค่าประมาณ 750 ล้านบาท
       (3) คดีการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ในการชักชวนให้ร่วมออมเงินผ่านทางโซเชียลมีเดียในชื่อ“แชร์แม่มณี”ซึ่งมีผู้เสียหายประมาณ 4,000 ราย มูลค่าความเสียหายเบื้องต้นประมาณ 1,300 ล้านบาท ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษรับเป็นคดีพิเศษที่ 150/2562 และได้ติดตามยึดอายัดทรัพย์สินที่ต้องสงสัยว่าได้มาจากการกระทำความผิดมูลค่าประมาณ 40 ล้านบาท
        (4) คดีการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ในการชักชวนประชาชนทั่วไปที่ใช้ระบบสังคมออนไลน์ (Facebook) ให้กดถูกใจ กดแบ่งปัน และแสดงความคิดเห็นเชิงบวกแก่งานโฆษณาบนเฟซบุ๊ก หรือแชร์ Nice Review ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสมัครสมาชิกด้วยอัตราที่สูงและจะมีการกำหนดค่าตอบแทนเป็นลำดับชั้น โดยจ่ายเป็นเงินสดในช่วงแรกและเปลี่ยนมาจ่ายค่าตอบแทนให้เป็นเงินสกุล NRV ที่มีมูลค่าลดลงจนเหลือมูลค่า 0 บาท ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับเป็นคดีพิเศษที่ 161/2562 โดยมีผู้เสียหายจำนวน 2,060 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 368 ล้านบาท และได้ติดตามยึดอายัดทรัพย์สินที่ต้องสงสัยว่าได้มาจากการกระทำความผิดมูลค่าประมาณ 180 ล้านบาท
       (5) คดีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นและวัดพระธรรมกาย กรมสอบสวนคดีพิเศษรับเป็นคดีพิเศษทั้งสิ้นจำนวน 27 คดี ดำเนินการแล้วเสร็จ 18 คดี (ส่งพนักงานอัยการจำนวน 15 คดี ส่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จำนวน 2 คดี และรวมสำนวน 1 คดี) อยู่ระหว่างดำเนินการ 9 คดี
       (6) คดีนายศุภชัย ศรีศุภอักษร ถวายที่ดินให้พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมมชโย) โดยมีนายอนันต์ อัศวโภคิน เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทน อันอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษรับเป็นคดีพิเศษที่ 10/2560 โดยล่าสุด อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้พิจารณาข้อเท็จจริงที่ได้จากการสอบสวนและความเห็นของพนักงานอัยการ มีความเห็นแตกต่างจากพนักงานอัยการโดยเห็นว่าข้อเท็จจริงยังฟังได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้กระทำความผิดตามที่ได้มีความเห็นควรสั่งฟ้องไปแล้ว จึงได้มีความเห็นแย้งความเห็นของพนักงานอัยการให้ฟ้องนายอนันต์ฯ ตามข้อกล่าวหาส่งพนักงานอัยการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างอัยการสูงสุดพิจารณาว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้อง อันเป็นความเห็นชี้ขาดตามกฎหมาย
      (7) คดีการนำเข้าบุหรี่ต่างประเทศโดยสำแดงเอกสารนำเข้าอันเป็นเท็จ (ต่ำกว่าความเป็นจริง) ของบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด ซึ่งศาลอาญาได้มีคำพิพากษาสรุปได้ว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานสำแดงราคานำเข้าบุหรี่อันเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ปรับเป็นเงินจำนวน 4 เท่า เป็นเงิน 1,225,990,617 บาท และยกฟ้องจำเลย 2 - 8 ทั้งนี้ สำหรับการนำเข้าบุหรี่ของนิติบุคคลฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด ยังมีกรณีการนำเข้ายี่ห้อมาร์ลโบโร่ และแอลแอนด์เอ็ม จากบริษัท พีที ฟิลลิป มอร์ริส อินโดนีเซีย (PTPMI) โดยเป็นการนำเข้าระหว่างปี พ.ศ. 2543 - 2546 จำนวน 1,052 ใบขน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสืบพยานจำเลย โดยคาดว่าจะมีคำพิพากษาประมาณเดือนมกราคม 2563

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ข่าวที่น่าสนใจ