DSI ลงพื้นที่นำอากาศยานไร้คนขับแบบ Vtol ตรวจสอบกรณีมีการร้องเรียนเอกชนถือครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองพระยาอาจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย มูลค่าความเสียหายหลายร้อยล้านบาท

เผยแพร่: 18 ธ.ค. 2567 14:16 น. ปรับปรุง: 18 ธ.ค. 2567 14:54 น. เปิดอ่าน 324 ครั้ง  
 


              ตามที่ พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และพันตำรวจตรี จตุพล บงกชมาศ ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค ได้มอบหมายและกำชับให้ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษ เขตพื้นที่ 8 เฝ้าระวังอาชญากรรมพิเศษในพื้นที่รับผิดชอบ ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต กระบี่ พังงา ชุมพร ระนอง นครศรีธรรมราช และจังหวัด สุราษฎร์ธานี โดยเป็นกลุ่มจังหวัดที่เป็นพื้นที่แหล่งทรัพยากรธรรมชาติเป็นจำนวนมาก จึงมีโอกาสสูงที่จะเกิดอาชญากรรมที่เป็นคดีพิเศษ โดยเฉพาะกรณีเกี่ยวกับการบุกรุกยึดถือแหล่งทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่รับผิดชอบ นั้น

              โดยวานนี้ (วันอังคารที่ 17 ธันวาคม 2567) นายศุภชัย คำคุ้ม ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษ เขตพื้นที่ 8 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษ เขตพื้นที่ 8 และคณะ ได้สนธิกำลังร่วมกับ นายไกรศรี สว่างศรี ผู้อำนวยการส่วนแผนที่และเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ กองเทคโนโลยีและศูนย์ข้อมูลการตรวจสอบ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ นำอากาศยานไร้คนขับแบบ Vtol ที่สามารถทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศแบบความละเอียดถูกต้องสูง ร่วมกับระบบ DSI Crime Map ทำการบินสำรวจจัดทำแผนที่เกิดเหตุ บริเวณพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าปลายคลองพระยา ตำบลปลายพระยา อำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ ซึ่งมีกรณีกล่าวหาว่า บริษัทแห่งหนึ่ง ได้ถือครองที่ดินตามเอกสารสิทธิ์ที่ดิน

ประเภทหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) จำนวน 21 แปลง เนื้อที่กว่า 766 ไร่ ทับซ้อนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าว โดยรับเรื่องเป็นสำนวนสืบสวนที่ 161/2567  ในการลงพื้นที่ มีหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 12 (สาขากระบี่) ศูนย์ป้องกันและปราบปรามที่ 4 ภาคใต้ เจ้าหน้าที่สำนักพัฒนาที่ดินเขต 11 (สุราษฎร์ธานี) เจ้าหน้าที่สถานีพัฒนาที่ดินกระบี่ เจ้าหน้าที่ที่ดินจังหวัดกระบี่ สาขาอ่าวลึก เจ้าหน้าที่ป่าไม้หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ กบ.5 (ปลายพระยา) และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ได้แก่ นายอำเภอปลายพระยา และผู้ใหญ่บ้านที่เกี่ยวข้อง ร่วมปฏิบัติการในครั้งนี้ด้วย

                 จากการตรวจสอบลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า บริษัทดังกล่าว มีการถือครองที่ดินทับซ้อนกับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติฯ ตามคำร้อง โดยเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ที่ใช้อ้างในการครอบครอง ทั้งที่มีขึ้นก่อนและหลังประกาศกำหนดให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ป่าปลายคลองพระยา ที่ต้องสืบสวนขยายผลการได้มาซึ่งเอกสารดังกล่าวให้ชัดเจน หากเกิดจากเป็นการกระทำที่มิชอบ ย่อมเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 หรืออาจเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 หรืออาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดินและที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 9 ซึ่งมีโทษตามมาตรา 108 ทวิ และความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง และจะมีมูลค่าความเสียหายหลายร้อยล้านบาท หลังจากนี้ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษ เขตพื้นที่ 8 จะเร่งรัดการสืบสวนเพื่อพิจารณาตามพระราชบัญญัติการสอบสวนพิเศษ พ.ศ. 2547 หากเข้าข่ายเป็นคดีพิเศษ จะเสนอผู้บังคับบัญชามีคำสั่งให้ทำการสอบสวนเป็นพิเศษโดยเร็ว


เอกสารที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ข่าวที่น่าสนใจ