DSI ลงพื้นที่สืบสวนสอบสวน กรณี คนต่างด้าวให้นิติบุคคลไทยเป็นนอมินี ประกอบธุรกิจต้องห้ามของคนต่างด้าว ขายบ้านจัดสรรหลายโครงการ รวมมูลค่า 240 ล้านบาท ในลักษณะหลอกลวงผู้บริโภค และไม่ได้รับอนุญาตจากทางราชการ ในพื้นที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
เผยแพร่: 23 มิ.ย. 2563 17:30 น. ปรับปรุง: 23 มิ.ย. 2563 18:59 น. เปิดอ่าน 3600 ครั้งDSI ลงพื้นที่สืบสวนสอบสวน กรณี คนต่างด้าวให้นิติบุคคลไทยเป็นนอมินี
ประกอบธุรกิจต้องห้ามของคนต่างด้าว ขายบ้านจัดสรรหลายโครงการ รวมมูลค่า 240 ล้านบาท ในลักษณะหลอกลวงผู้บริโภค และไม่ได้รับอนุญาตจากทางราชการ
ในพื้นที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ในวันนี้ (วันอังคารที่ 23 มิถุนายน 2563) เวลา 10.30 น. พันตำรวจโท ปกรณ์ สุชีวกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ, ร้อยตำรวจเอก วิษณุ ฉิมตระกูล ผู้อำนวยการกองคดีความมั่นคง, นายธวัชชัย รัตนปรีชาชัย ผู้อำนวยการส่วนคดีความมั่นคง 2 และคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 44/2563 ลงพื้นที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีกับคนต่างด้าวที่มาประกอบธุรกิจขายบ้านจัดสรรหลายโครงการ โดยให้นิติบุคคลไทยเป็นนอมินี ในลักษณะที่เป็นการหลอกลวงผู้บริโภค และหลีกเลี่ยงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างบ้านจัดสรร กรณีดังกล่าว สืบเนื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับการร้องเรียนจากกลุ่มผู้เสียหายชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่ได้รับผลกระทบจากการซื้อบ้านโครงการบ้านจัดสรร 5 โครงการ จำนวน 18 ราย ซึ่งมีคนต่างด้าวชาวอังกฤษ ร่วมกับคนไทย จดทะเบียนนิติบุคคลเป็นนอมินีเพื่ออำพรางในการประกอบกิจการ แต่แท้จริงแล้ว คนต่างด้าวเป็นผู้มีอำนาจในการบริหารจัดการทุกโครงการ อันเป็นการประกอบธุรกิจต้องห้ามของคนต่างด้าวตามพระราชบัญญัติประกอบธุรกิจคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 นอกจากนี้ ยังพบพฤติการณ์ของคนต่างด้าวด้วยว่า มีการโฆษณาขายบ้านจัดสรรโดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ในลักษณะที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และเอาเปรียบผู้บริโภค รวมทั้งมีการหลีกเลี่ยงการเสียภาษี ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นความผิดอาญาอื่นที่เกี่ยวข้องอีกด้วย
จากการสืบสวนสอบสวนพบว่า ผู้เสียหายชาวไทยและชาวต่างชาติได้ซื้อบ้านในโครงการดังกล่าว ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลหนองแก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีคนต่างด้าวชาวอังกฤษเป็นเจ้าของโครงการ โดยให้นิติบุคคลไทยเป็นนอมินี จำนวน 5 โครงการ คือ (1) โครงการ เคเลนน่า รีสอร์ท วิลล่า หัวหิน (2) โครงการ อลามันดา พูลวิลล่า หัวหิน 112 (3) โครงการ อลามันดา เอ็คคลูซีฟ พูลวิลล่า รีสอร์ท หัวหิน ซอย 116 (4) โครงการ ออร์คิด วิลล่า และ (5) โครงการ ปาล์ม การ์เด้น โดยทั้ง 5 โครงการ จดทะเบียนประกอบกิจการเป็นนิติบุคคล ประกอบด้วย บริษัท เคลานนา วิลล่า หัวหิน จำกัด, บริษัท วอเตอร์ฟอลส์ วิลล่า จำกัด, บริษัท เอเชียพร็อพเพอร์ตี้ เซ็นเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด, บริษัท เพนโรส เฮาส์ จำกัด และบริษัท จี.เอ.เทค จำกัด โดยมีพฤติการณ์ กล่าวคือ คนต่างด้าวได้ร่วมกับคนไทย หลอกลวงผู้เสียหาย โดยการโฆษณาขายบ้านจัดสรร เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อเข้าทำสัญญากับโครงการ ปรากฏว่าไม่เป็นไปตามสัญญาที่ได้โฆษณาไว้ และก่อสร้างไม่เสร็จตามสัญญา จึงไม่สามารถส่งมอบบ้านได้ตามกำหนด นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า ในการดำเนินโครงการดังกล่าว มิได้มีการขออนุญาตจัดสรร และการก่อสร้างแต่อย่างใด ตลอดจนมีปัญหาด้านสาธารณูปโภค ได้แก่ ไม่สามารถขอเลขที่บ้านได้ เป็นเหตุให้กระทบกับการขอใช้น้ำประปาและไฟฟ้า โดยทั้ง 5 โครงการ
พบข้อมูลการขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ที่มิได้นำรายได้มาเสียภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร อันมีลักษณะหลีกเลี่ยงการเสียภาษี ทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้จำนวนมาก ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าว เป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมายการจัดสรรที่ดิน และการก่อสร้าง โดยผลักภาระให้ผู้บริโภคไปดำเนินการเอง จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามสัญญา และเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ทั้งนี้ การกระทำของคนต่างด้าว ที่ให้นิติบุคคลไทยเป็นนอมินีในการประกอบธุรกิจต้องห้ามของคนต่างด้าว ตามบัญชี 1 (9) การค้าที่ดิน และบัญชี 3 (10) การก่อสร้าง ถือเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 โดยปรากฏจากหลักฐานการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดิน สัญญาการก่อสร้าง และข้อมูลทางการเงิน คิดเป็นสินทรัพย์รวมกันไม่น้อยกว่า 240 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามีสินทรัพย์รวมเกิน 100 ล้านบาท อันเข้าข่ายลักษณะที่เป็นคดีพิเศษ ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ จะต้องดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดดังกล่าว รวมทั้งความผิดอาญาอื่นที่เกี่ยวข้อง อันเป็นการคุ้มครองผู้เสียหาย และป้องกันไม่ให้รัฐต้องสูญเสียรายได้จำนวนมาก ตลอดจนจะต้องตรวจสอบแหล่งที่มาของเงินทุนคนต่างด้าวดังกล่าวว่า มีการกระทำผิดตามกฎหมายฟอกเงินด้วยหรือไม่ ต่อไป
กรมสอบสวนคดีพิเศษมุ่งมั่นดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกรณีการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 อย่างเด็ดขาดและครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อคุ้มครองธุรกิจที่คนไทยไม่พร้อมที่จะแข่งขันกับนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งได้ใช้วิธีการให้คนต่างด้าวกลุ่มนี้เข้าสวมสิทธิเป็นคนไทยโดยมิชอบ แล้วเข้าไปถือหุ้นแทนในลักษณะนอมินีว่าเป็นธุรกิจของคนไทย รวมถึงการตรวจสอบที่มาของแหล่งเงินทุนของธุรกิจของคนต่างด้าวดังกล่าวว่าเข้าข่ายการกระทำผิดตามกฎหมายฟอกเงินด้วยหรือไม่ ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อมูลหรือเบาะแสเกี่ยวกับการกระทำผิดดังกล่าว สามารถแจ้งมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ที่สายด่วน DSI Call Center 1202 (โทร.ฟรีทั่วประเทศ) โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษจะเก็บรักษาข้อมูลผู้แจ้งเบาะแสไว้เป็นความลับ
*********************************************************************