DSI ตรวจค้น 5 เป้าหมาย เครือข่ายส่งออกน้ำมันโกฟุก หลังทางการพม่ายืนยันไม่มีบริษัทฯ รับซื้อน้ำมันในพม่า

เผยแพร่: 21 มี.ค. 2567 15:04 น. ปรับรุง: 21 มี.ค. 2567 15:24 น. เปิดอ่าน 5393 ครั้ง  
 

             ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ทำการสืบสวน ขยายผลจากคดีพิเศษที่ 10/2567 กรณีเครือข่าย "โกฟุก" นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จในระบบคอมพิวเตอร์หลอกลวงให้ประชาชนเข้าซื้อรางวัลเลขท้ายของรางวัลที่ 1 และรางวัลเลขท้าย 2 ตัว โดยอ้างอิงผลการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล รวมทั้งนำผลการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ มาประกอบในการเชิญชวนให้มีการเล่นการพนันภายใต้หลายเว็บไซต์ เช่น ร่ำรวย  ร้อยล้าน นพเก้า นาคราช ชอบหวย ล้อตโต้เอ็มเอ็ม ดีเอ็นเอ เยเย่ และอื่นๆ เบื้องต้นพบเงินหมุนเวียนในระบบกว่า 1,000 ล้านบาท พบว่ากลุ่มเครือข่ายดังกล่าวเกี่ยวข้องกับกรณีที่คณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด สภาผู้แทนราษฎรได้ส่งเรื่องขอให้ดำเนินการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนกรณี          กลุ่มผู้บริหารและผู้ประกอบกิจการปิโตรเลียมกระทำความผิดเกี่ยวกับปิโตรเลียมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายมีพฤติการณ์เป็นขบวนการลักลอบจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในทั้งในและต่างประเทศ และเป็นผู้ซื้อน้ำมันเพื่อการส่งออกแต่ไม่มีการส่งออกอย่างแท้จริงโดยนำกลับมาจำหน่ายในประเทศ ส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นมีการฟอกเงินรายได้จากบ่อนคาสิโนแนวชายแดน หวยใต้ดินและสินค้าหนีภาษี อันอาจเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ 2560 ประมวลกฎหมายรัษฎากร และกฎหมายฟอกเงิน เป็นคดีพิเศษที่ 116/2563 ที่สอบสวนอยู่ ซึ่งจากการสอบสวนขยายผล พบพฤติการณ์ต้องสงสัยว่า บริษัท Chindwin สัญชาติเมียนมา ที่แต่งตั้งนายสง่า หรือโกฟุก เป็นตัวแทนดำเนินการซื้อขายน้ำมันเชื้อเพลิงจากประเทศไทยเพื่อส่งออกไปยังสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาโดยได้รับการยกเว้นทางภาษีมีตัวตนหรือไม่ คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจึงดำเนินการขอความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา (MLAT) ตรวจสอบสถานะของบริษัท ชินด์วิน จำกัด (Chindwin Company Limited) ผลการตรวจสอบพบว่าไม่มีการจดทะเบียนในนามบริษัท Chinwind จำกัด ในสารบบนิติบุคคลของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา อีกทั้ง บริษัท Chinwind ไม่ได้เปิดดำเนินการหรือมีสถานประกอบการตามที่ได้ระบุไว้ในเอกสารใบสั่งสินค้า (Purchase Order) บัญชีราคาสินค้า (Invoice) และเอกสารใบรับสินค้า (RECEIVING OF MERCHANDISE) ที่นำมาแสดงต่อบริษัทผู้ขายน้ำมัน จึงมีเหตุจำเป็นต้องตรวจสอบต้นทางคือนิติบุคคลและสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการส่งออกน้ำมันไปยังต่างประเทศ คณะพนักงานสอบสวนจึงมีมติร่วมกับพนักงานอัยการที่ร่วมสอบสวน ยื่นคำร้องขอหมายค้นต่อศาลเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานเข้าตรวจค้นสถานที่ต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี จังหวัดชุมพร และจังหวัดระนอง รวม 5 จุด ในวันนี้ ประกอบด้วย

           จุดที่ 1 บริษัท ทีพีทีเอ็ม โลจิสติกส์ จำกัด และ บริษัท น้ำโขง โลจิสติกส์ จำกัด  อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

        ​   จุดที่ 2 บริษัท ศิธา โลจิสติกส์ จำกัด อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

         ​   จุดที่ 3 บริษัท โชคชัยพัฒนาออยล์ จำกัด อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

            จุดที่ 4 บริษัท จิดาภา ทรานสปอร์ต จำกัด และ บริษัท สกลพัฒน์ ทรานสปอร์ต จำกัด  อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร

            จุดที่ 5 ท่าเรือสินพารา (ท่าเรือโกกวด) หรือ ห้างหุ้นจำกัด สินพาราค้าไม้ อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง

            โดย พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วย พันตำรวจตรี วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ/โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ลงพื้นที่ติดตามการปฏิบัติงานของคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่บูรณาการ การทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ที่ทำการตรวจค้นในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ส่วนในการปฏิบัติการตรวจค้นในพื้นที่จังหวัดระนองและชุมพร นำโดย ร้อยตำรวจเอก วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นายอังศุเกติ์  วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ผู้อำนวยการกองกิจการอำนวยความยุติธรรม และ คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่บูรณาการการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ผลการตรวจค้นสามารถพบและยึดสิ่งของเป็นพยานหลักฐานในรูปแบบเอกสารและไฟล์ดิจิทัลเพื่อประกอบสำนวนการสอบสวนต่อไป “พฤติการณ์ของคดีนี้มีเหตุอันควรสงสัยว่านายสง่าฯ กับพวก ได้ร่วมกันหลอกลวงใช้ชื่อบริษัทผู้ซื้อคือ บริษัท Chindwin สัญชาติเมียนมา ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียน ซึ่งไม่มีอยู่จริง มาสร้าง   นิติกรรมอำพรางโดยแสดงเอกสารเท็จเป็นหนังสือแต่งตั้งเป็นตัวแทนผู้ซื้อ เพื่อใช้เป็นคู่ค้าหรือคู่สัญญาในการทำธุรกรรมซื้อน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อจะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ ๐ ทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำไปขายให้กับนายสง่าฯ กับพวกเป็นราคาที่ถูกกว่าราคาตลาด นายสง่าฯ กับพวก จึงอาศัยช่องทางนี้ในการซื้อน้ำมันราคาถูก และยังมีพฤติการณ์อันควรสงสัยในการลักลอบหนีศุลกากรนำน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าวเข้ามาจำหน่ายเอากำไรภายในประเทศ ทำให้รัฐสูญเสียรายได้กว่า 28,000 ล้านบาท”

----------จุดที่ 1-3  จังหวัดชลบุรี ----------

---- จุดที่4-5 จังหวัดระนอง และจังหวัดชุมพร----


เอกสารที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ข่าวที่น่าสนใจ