DSI ส่งสำนวน กรณี การทุจริตเบิกจ่ายค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด
เผยแพร่: 29 มี.ค. 2566 16:58 น. ปรับรุง: 29 มี.ค. 2566 16:58 น. เปิดอ่าน 922 ครั้งDSI ส่งสำนวน กรณี การทุจริตเบิกจ่ายค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด
และค่าล่วงเวลาในวันหยุด ของผู้บริหารและพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย ให้พนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ
วันนี้ (วันที่ 29 มีนาคม 2566) กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดย กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ได้ส่งสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษที่ 37/2561 ซึ่งมี ร้อยตำรวจเอก สุรวุฒิ รังไสย์ ผู้อำนวยการกองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ให้กับพนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ พร้อมความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหารวม 34 ราย และเห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา 3 ราย เนื่องจากถึงแก่
ความตาย รวมเอกสาร 72 แฟ้ม 33,377 แผ่น
คดีนี้ คณะกรรมการคดีพิเศษ ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 6/2556 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2556 ให้รับ
เป็นคดีพิเศษ ซึ่งต่อมาการท่าเรือแห่งประเทศไทยได้มอบอำนาจให้ นายโกมล ศรีบางพลีน้อย ผู้กล่าวหา ร้องทุกข์ดำเนินคดีกับนายจงเด่น บุตรสุทธิวงศ์ กับพวก และพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทยคนอื่น ๆ รวมทั้งบุคคลอื่น
ที่เกี่ยวข้อง ที่ทุจริตเบิกจ่ายค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดเพิ่มเติม ในห้วงเวลา พ.ศ. 2545 – พ.ศ. 2555 จนกว่าคดีจะถึงที่สุด ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษได้สอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเชื่อว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ จึงส่งสำนวนการสอบสวนให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2560 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการตามมาตรา 89/2 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 (กฎหมายซึ่งใช้บังคับในขณะนั้น)
จากการสืบสวนสอบสวนคดีนี้มีพยานหลักฐานเชื่อว่า มีผู้บริหารและพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย
รวม 36 ราย และทนายความ 1 ราย รวม 37 ราย ได้ร่วมกันกระทำการทุจริตการเบิกจ่ายเงินค่าล่วงเวลา ค่าทำงาน
ในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด โดยร่วมกันจัดทำเอกสารใบเบิกเงิน เพื่อใช้เบิกเงินดังกล่าว ทั้งที่ไม่ได้ทำงานจริง และใช้เอกสารดังกล่าวเป็นหลักฐานในการฟ้องการท่าเรือแห่งประเทศไทยต่อศาลแรงงานกลาง เพื่อเรียกร้องค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดเพิ่มเติมในห้วงเวลา พ.ศ. 2545 – พ.ศ. 2555 ทั้งที่ไม่ได้ทำงานจริง
ซึ่งพฤติการณ์ร่วมกันกระทำการดังกล่าว เข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดฐาน “เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร
รับเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสารอันเป็นเท็จ เป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เบิกความอันเป็นเท็จ และนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157,162 ประกอบมาตรา 91 มาตรา 177 วรรคแรก มาตรา 180 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83, 84 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172
/นอกจากนี้...
นอกจากนี้ เพื่อประโยชน์ในการปราบปรามการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษ และเพื่อการอำนวยความยุติธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษอาศัยอำนาจตาม มาตรา 22/1 แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และ
ที่แก้ไขเพิ่มเติม มอบให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยให้ความช่วยเหลือสนับสนุนในการปราบปรามการกระทำความผิด
ที่เป็นคดีพิเศษ โดยให้ตรวจสอบบุคคลที่มีพฤติการณ์การกระทำในลักษณะเช่นเดียวกันเพิ่มเติม ซึ่งหากการท่าเรือ
แห่งประเทศไทยพบการกระทำความผิดในลักษณะนี้ในส่วนอื่นอีก ให้ดำเนินการจัดทำรายละเอียดพร้อมเอกสารหลักฐานประกอบการกระทำความผิดส่งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อดำเนินคดีเพิ่มเติมตามกฎหมายต่อไป
-----------------------------------
ลงวันที่ 29 มีนาคม 2566