DSI ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ การวิจัย และพัฒนานวัตกรรม เพิ่มขีดความสามารถการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ

เผยแพร่: 3 ก.พ. 2563 16:16 น. ปรับปรุง: 4 ก.พ. 2563 13:37 น. เปิดอ่าน 1786 ครั้ง  
 

DSI ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ 
การวิจัย และพัฒนานวัตกรรม เพิ่มขีดความสามารถการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ

 

           วันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 10.00 น. กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) โดย นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ปฏิบัติราชการแทน อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือทางวิชาการ การวิจัย และพัฒนานวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติงานสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ ณ ห้องประชุม 408 ชั้น 4 อาคารบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

           นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า การร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว เป็นการยกระดับความร่วมมือที่มีอยู่ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ซึ่งเกิดจากทั้งสองฝ่ายได้ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นของการพัฒนาองค์ความรู้ เครื่องมืออุปกรณ์ และระบบสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพสูง ให้เกิดเป็นนวัตกรรมการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ ที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันเพื่อป้องกันปราบปรามอาชญากรรมพิเศษ อันจะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพในการทำงานให้กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะที่พึ่งของประชาชน ให้สามารถผดุงความยุติธรรมและความสงบสุขให้สังคมไทย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการที่อาชญากรรมพิเศษ เป็นคดีที่มีความยุ่งยากซับซ้อน ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสังคม เศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ความรู้และวิทยาการหลากหลายแขนง ในการดำเนินการป้องกันและปราบปราม ดังนั้น มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ ที่มีความพร้อมและศักยภาพทางด้านวิชาการเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติและนานาชาติ โดยมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถทางวิชาการ ในหลากหลายสาขาวิชาจำนวนมาก อีกทั้งมีห้องปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ ที่เพียบพร้อมด้วยเครื่องมืออุปกรณ์ ที่มีมาตรฐานและทันสมัย จึงได้ร่วมเสริมพลังทางวิชาการของศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษของกรมสอบสวนคดีพิเศษต่อไป

           บันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ ครอบคลุมถึงการร่วมกันพัฒนาการเรียนการสอน การวิจัย และพัฒนานวัตกรรม สำหรับการปฏิบัติงานสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ รวมทั้งร่วมกันพัฒนาบุคลากร เสริมสร้างศักยภาพในการปฏิบัติงาน แลกเปลี่ยนบุคลากรและทรัพยากรระหว่างกัน รวมถึงขยายเครือข่ายความร่วมมือไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนร่วมกันส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา องค์ความรู้ เครื่องมืออุปกรณ์และระบบสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพสูง ในการสนับสนุนการปฏิบัติงานสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ อันเป็นการยกระดับกระบวนการยุติธรรมไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

 

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ข่าวที่น่าสนใจ