DSI ร่วมกับภาคีเครือข่ายแลกเปลี่ยนประสบการณ์การปราบปรามการค้ามนุษย์

เผยแพร่: 18 ม.ค. 2567 15:52 น. ปรับรุง: 18 ม.ค. 2567 15:57 น. เปิดอ่าน 853 ครั้ง   EN
 



            กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยกองคดีการค้ามนุษย์ ภายใต้การอนุมัติของ พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และภายใต้การกำกับดูแลของ ร้อยตำรวจเอก ปิยะ รักสกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้จัดการประชุมความร่วมมือเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและประสบการณ์การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ระหว่างวันที่ 17 - 19 มกราคม 2567 ณ โรงแรมแชง กรี ลา เชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและประสบการณ์การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการอาเซียน-ออสเตรเลียเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ (ASEAN-Australia Counter Trafficking: ASEAN ACT), องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International  Organization for Migration: IOM), สำนักงานสนับสนุนระดับภูมิภาคของกระบวนการบาหลี (Regional Support Office of The Bali Process on Smuggling, Trafficking in Persons and Related Transnational Crime: RSO), มูลนิธิเอทเวนตี้วัน (A21 Foundation), มูลนิธิลิฟท์อินเตอร์เนชั่นแนล (LIFT International), องค์การโอเปอเรชั่นอันเดอร์กราวด์เรลโรด (Operation Underground Railroad : O.U.R.), โครงการ SCIENTIA,  มูลนิธิไอเจเอ็ม ประเทศไทย (IJM Foundation, Thailand), มูลนิธิโซเอ (ZOE Foundation), และมูลนิธิราฟ (RAPHA International)

            การประชุมดังกล่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับเกียรติอย่างสูงจาก พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มากล่าวเปิดการประชุม โดยมี พันตำรวจตรียุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นผู้กล่าวรายงาน และมีนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวให้การต้อนรับ การประชุมดังกล่าวประกอบด้วยผู้เข้าร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง กว่า 100 คน จากกว่า 40 หน่วยงาน ได้แก่ ผู้แทนกรมสอบสวนคดีพิเศษและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงแรงงาน เป็นต้น ผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย และผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน

            โดยการประชุมฯ ดังกล่าวนี้สอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ ประการที่ 7 คือ การป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ด้วยการยกระดับและเพิ่มขีดสมรรถนะของประเทศไทยในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ให้เป็นที่ยอมรับจากสากล และยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ข้อ 16 ที่ว่าด้วยการส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรมและสร้างสถาบันที่มีประสิทธิผลครอบคลุมในทุกระดับ

            การประชุมฯ ดังกล่าวนี้มุ่งเน้นการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เพื่อให้การปฏิบัติงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยผู้แทนแต่ละหน่วยงานได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนข้อมูลต่าง ๆ นำไปสู่ความสำเร็จในการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อการบูรณาการการทำงานอย่างเข้มแข็งและมีเอกภาพตามหลักมาตรฐานสากล และส่งประโยชน์ต่อผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ที่จะสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและได้รับการคุ้มครองดูแลอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ต่อไป


เอกสารที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ข่าวที่น่าสนใจ