การจัดทำฐานข้อมูลและวิเคราะห์อาชญากรรมเบื้องต้นของศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษภาค ๔
เผยแพร่: 30 เม.ย. 2557 10:48 น. ปรับรุง: 30 เม.ย. 2557 10:48 น. เปิดอ่าน 15812 ครั้งการจัดทำฐานข้อมูลและวิเคราะห์อาชญากรรมเบื้องต้นของศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษภาค ๔
ปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มีความแตกต่างจากอาชญากรรมในอดีต ปัจจุบันด้านการสื่อสารเทคโนโลยีสารสนเทศมีความเจริญก้าวหน้าและมีบทบาทในชีวิตประจำวันแก่ประชาชนทั่วไป ในขณะเดียวกัน อาชญากรรมกลับนำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการกระทำความผิด ทำให้ปัญหาอาชญากรรมรุนแรงมากขึ้น ทั้งรูปแบบและวิธีการ รวมทั้งมีความสลับซับซ้อนมากกว่าเดิม ทำให้ยากต่อการป้องกันและปราบปราม โดยเฉพาะส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับการสืบสวนสอบสวนในอดีต พนักงานสอบสวนโดยทั่วไปมักมุ่งเน้นการสอบสวนไปที่การหาพยานและบุคคลสำคัญในที่เกิดเหตุ แต่ในทางกลับกันในบางครั้งผู้กระทำความผิดกระทำความผิดจริง แต่พนักงานสอบสวนไม่มีหลักฐานและพยานด้านเอกสารหรือวัตถุเข้ามาประกอบการพิจารณาคดี ทำให้ผู้กระทำความผิดได้รับการยกฟ้องหรือปล่อยตัวเนื่องจากขาดพยานหลักฐานที่เพียงพอ ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาคดีอาญาต่างๆ พนักงานสอบสวนต้องใช้ความพยายามในการสืบสวนและติดตามจับกุมตัวผู้กระทำความผิดมาทำการฟ้องร้องแก่ศาล และนอกจากจะต้องใช้วิชาความรู้ทางด้านวิทยาการสืบสวนสอบสวนต่างๆแล้ว พนักงานสืบสวนสอบสวนยังต้องมีความรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมา รวมทั้งวิธีการของคนร้ายในประเภทต่างๆ อีกด้วย
ระบบฐานข้อมูลอาชญากรรมหรือทะเบียนประวัติอาชญากร เป็นสาขาหนึ่งของงานทางด้านวิทยาการ ที่สามารถอำนวยประโยชน์และสนับสนุนการปฏิบัติงานของพนักงานสอบสวน ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการติดตามจับกุมตัวผู้กระทำความผิดให้ได้ผลและมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานมากยิ่งขึ้น โดยปกติงานด้านข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากร มักดำเนินการควบคู่กับการตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือซึ่งสามารถดำเนินการควบคู่ไปด้วยกันได้อย่างมีประสิทธิภาพเพราะการชี้ระบุตัวบุคคล ต้องอาศัยงานทางด้านพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือเป็นเครื่องยืนยันหลักฐาน และอาศัยวิธีการด้านการทะเบียนประวัติอาชญากรรมเป็นแนวทางในการเอื้ออำนวยในการตรวจสอบ ซึ่งข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรรมเป็นการใช้ความรู้ทางด้านวิทยาการและระบบคอมพิวเตอร์ในการชี้ชัดและระบุตัวผู้กระทำความผิดและนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการสืบสวนสอบสวน ข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรจึงเป็นสิ่งสำคัญที่พนักงานสอบสวนใช้ในการตรวจสอบประวัติผู้กระทำความผิด และใช้ในการพิจารณาในการลงโทษ ลดโทษหรือป้องกันปราบปราม ตลอดจนใช้ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า โดยปกติแล้วบุคคลธรรมดาสามารถจดจำและแยกแยะคนร้ายได้เฉพาะในท้องที่ของตนเองเท่านั้น การจดจำใบหน้าและลักษณะของคนร้ายทั้งหมดโดยใช้ความทรงจำของแต่ละบุคคลเป็นสิ่งที่จำเป็นในการปฏิบัติงานของพนักงานสืบสวนสอบสวน
การเก็บข้อมูลประวัติบุคคล ข้อมูลเกี่ยวกับแผนประทุษกรรมหรือวิธีการของผู้กระทำความผิด หรือข้อมูลอาชญากรรมอื่นๆ ฯลฯ โดยใช้การเก็บแยกข้อมูลออกเป็นประเภทต่างๆ เช่นอาจเก็บบันทึกข้อมูลในรูปแบบของสารบบ ดัชนีหรือแฟ้มโดยเรียงค่าตามรหัสหรือตามลำดับตัวอักษร เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการดำเนินการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งวิธีการดังกล่าวคือการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างมีระบบ ทำให้ข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรรม ซึ่งเป็นงานหลักทางด้านวิทยาการที่มีความสำคัญอีกหน่วยงานหนึ่งถือกำเนิดขึ้น
ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษภาค ๔ ได้รับมอบหมายให้ดำเนินภารกิจป้องกัน ปราบปราม สืบสวน สอบสวน วิเคราะห์และพิสูจน์ความผิดและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดทางอาญาที่เป็นคดีพิเศษ ตามที่ผู้บังคับบัญชามีคำสั่งมอบหมายและงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจัดทำสารบบการจัดเก็บข้อมูลทางเทคโนโลยี การสร้างฐานข้อมูล การประมวลผลข้อมูล เพื่อใช้ในการสืบสวน สอบสวน วิเคราะห์และพิสูจน์ความผิดทางคดีอาญา และการข่าวกรองของศูนย์ฯ จึงได้จัดตั้งเป็น ส่วนข้อมูลและวิเคราะห์อาชญากรรม ขึ้นตั้งแต่เริ่มก่อตั้งศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อปี ๒๕๕๓
ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษภาค ๔ พบว่าการดำเนินการกับปัญหาอาชญากรรมที่มีความสลับซับซ้อน จำเป็นต้องมีเครื่องมือสนับสนุนการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น หนึ่งในเครื่องมือดังกล่าว คือ การจัดทำฐานข้อมูลบุคคล และข้อมูลทางด้านเทคนิค (ความเชื่อมโยงทางโทรศัพท์) เพื่อนำมาใช้ประกอบการวิเคราะห์กลุ่มเครือข่ายอาชญากรรม และใช้เป็นเบาะแสในการสืบสวนสอบสวน ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษภาค ๔ จึงได้นำรูปแบบที่เคยดำเนินการมาปรับใช้กับงานสืบสวนสอบสวน การข่าวกรอง งานที่เกี่ยวกับความมั่นคง ประกอบกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้จัดทำโครงการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลอาชญากรรมระดับพื้นที่ โดยกำหนดให้เป็นตัวชี้วัดการประเมินผลการปฏิบัติราชการของหัวหน้าหน่วยงาน คือ ตัวชี้วัด DSI-2 ระดับความสำเร็จของร้อยละเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักในการดำเนินงานตามภารกิจหลักของหน่วยงานฯ ตัวชี้วัดเรื่อง ระดับความสำเร็จของการบริหารจัดการศูนย์ข้อมูลอาชญากรรมระดับพื้นที่ โดยกำหนดให้ ดำเนินการจัดทำ/ทบทวนผังโครงสร้างการจัดการศูนย์ข้อมูลอาชญากรรมระดับพื้นที่ ดำเนินการลงข้อมูลแหล่งข่าวบุคคลตามที่ขออนุมัติจัดตั้งแหล่งข่าวบุคคลลงในฐานข้อมูล IBASE/ฐานข้อมูลรูปแบบ EXell นำข้อมูลจากแหล่งอื่นๆมาลงในฐานข้อมูล IBASE/ฐานข้อมูลรูปแบบ EXell ไม่น้อยกว่า ๑๐๐ ข่าว นำข้อมูลที่มีอยู่ในระบบฐานข้อมูลไปใช้ให้เป็นผลในการสืบสวนและหรือสอบสวนคดีพิเศษไม่น้อยกว่าร้อยละ ๑๐ และสุดท้ายคือการสรุปการใช้ข้อมูลแหล่งข่าวที่มีอยู่ในระบบฐานข้อมูลในการสืบสวนและหรือสอบสวนคดีพิเศษรายงานต่อผู้บังคับบัญชา
การดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายและสามารถนำไปใช้งานได้จริง มีความจำเป็นต้องให้การสนับสนุนกับเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการ รวมทั้งไม่ปิดกั้นการพัฒนารูปแบบ ต้องรับฟังความคิดเห็นและสนับสนุนอย่างเต็มที่ การดำเนินการดังกล่าว มีปัจจัยสำคัญที่สุด คือ คนหรือเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ ซึ่งต้องมีคุณสมบัติพิเศษลำดับแรกคือ ต้องมีความอดทนในการรวบรวมข้อมูลอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน ลำดับถัดมาคือต้องเป็นผู้สนใจใฝ่รู้ในข้อมูลข่าวสาร เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นคนขี้สงสัย ช่างสังเกตและจดจำ มีความกระตือรือร้นต้องการตรวจสอบ พิสูจน์ทราบข้อมูลที่ได้รับมา ลำดับต่อมา คือ ต้องเป็นผู้มีความสามารถในเชิงการวิเคราะห์มีตรรกะในความคิด มีเหตุผล มีความรอบครอบ รับฟังข้อมูลอย่างรอบด้าน และลำดับสุดท้าย คือ มีความรู้พื้นฐานในเชิงเทคนิค การใช้เครื่องมือ โปรแกรม ซอฟแวร์ ต่างๆ ที่ใช้ในการจัดเก็บและช่วยการวิเคราะห์ โดยบุคคลคนเดียวกันอาจมีความสามารถไม่ครบถ้วนตามที่กล่าวมา แต่สามารถนำมาฝึกอบรมและบริหารจัดการโดยแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบตามความสามารถของแต่ละคน ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์และการโยกย้าย จึงมีการกำหนดขั้นตอนในตัวชี้วัดตามข้างต้น ในส่วนของการ ดำเนินการจัดทำ/ทบทวนผังโครงสร้างการจัดการศูนย์ข้อมูลอาชญากรรมระดับพื้นที่ และศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษภาค ๔ ได้มอบหมายหน้าที่ให้เจ้าหน้าที่คดีพิเศษ นักสืบสวนสอบสวน และเจ้าหน้าที่อื่นที่ได้รับมอบหมาย ทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่การข่าวไปในตัวพร้อมกัน
ที่กล่าวมาตามข้างต้นเป็นเพียงการเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ผู้จัดทำฐานข้อมูล และเจ้าหน้าที่การข่าวในระดับศูนย์ฯ รวมทั้งการวางผังโครงสร้างให้ทันต่อสถานการณ์ ส่วนที่สำคัญมากต่อมา คือ การจัดตั้งแหล่งข่าว ผู้ให้ข่าว โดยมีเป้าหมายให้ครอบคลุมพื้นที่รับผิดชอบ ๑๒ จังหวัดของภาค ๔ ซึ่งต้องดำเนินการตามระเบียบกรมสอบสวนคดีพิเศษว่าด้วยการใช้แหล่งข่าวบุคคล พ.ศ. ๒๕๕๐ ต้องมีการขออนุมัติใช้และจัดตั้งแหล่งข่าว การเก็งตัวบุคคล สืบสวน คัดเลือกและชักชวน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญ เมื่อดำเนินการตามระเบียบครบถ้วนจนได้แหล่งข่าวแล้ว ผู้ควบคุมแหล่งข่าวจะมีภาระหน้าที่ในการประสานเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสารสำคัญหรือตามหัวข้อข่าวสารที่กำหนด และรายงานผลให้ผู้บังคับบัญชาทราบ
ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษภาค ๔ ได้ดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลหลักอยู่สองฐานข้อมูล คือ ฐานข้อมูลบุคคล และฐานข้อมูลความเชื่อมโยงทางโทรศัพท์ โดยการกำหนดแหล่งที่มาของข้อมูลคือ ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่การข่าวของศูนย์ฯเองและเจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่น ข้อมูลจากผู้ควบคุมแหล่งข่าว ข้อมูลจากการสืบสวน สอบสวน และ แหล่งข่าวเปิดต่างๆ เมื่อได้รับข้อมูลจากแหล่งข้อมูลมาแล้วจะมีการดำเนินการพิสูจน์ทราบบุคคลทางทะเบียน และทางอื่นตามความเหมาะสม รวมทั้งสืบค้นข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง และการดำเนินกรรมวิธีด้านข่าวกรองตามความจำเป็น เพื่อนำข้อมูลมาจัดทำฐานข้อมูลบุคคลของศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษภาค ๔ ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีวัตถุประสงค์ในการลดการใช้กระดาษและรักษาสิ่งแวดล้อม เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จนำแปลงข้อมูลดังกล่าวให้อยู่ในรูปแบบที่สามารถนำเข้าฐานข้อมูล IBASE เพื่อให้มีการใช้งานร่วมกันของข้อมูลกับส่วนกลาง ปัจจุบันศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษภาค ๔ มีฐานข้อมูลบุคคลรวมทั้งสิ้น ประมาณกว่า ๒,๑๐๐ ราย และนำลงฐานข้อมูล IBASE บุคลแล้วจำนวนกว่า ๑,๑๕๐ ราย IBASE โทรศัพท์ประมาณ ๑๕๐ หมายเลข และ IBASE เลขที่บัญชีธนาคารประมาณกว่า ๕๐ บัญชี
ส่วนการจัดทำฐานข้อมูลความเชื่อมโยงทางโทรศัพท์ เมื่อได้ข้อมูลจากแหล่งที่มาตามข้างต้นแล้ว ศูนย์ฯจะทำคำร้องขอตรวจสอบข้อมูลไปยังส่วนตรวจ 3 สำนักเทคโนโลยีและศูนย์ข้อมูลการตรวจสอบ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลรายการใช้โทรศัพท์รวมทั้งข้อมูลการจดทะเบียนหมายเลขโทรศัพท์และข้อมูลอื่นที่จำเป็น เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วขั้นต่อไปต้องนำมาจัดทำในรูปแบบ EXCELL เพื่อให้สามารถนำเข้าโปรแกรม i2 ให้อยู่ในไฟล์เดียวกันทั้งหมด เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงของโทรศัพท์เมื่อมีข้อมูลซ้ำกันกับข้อมูลเดิม สำหรับใช้วิเคราะห์ความเชื่อมโยงของเครือข่ายอาชญากรรมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและพื้นที่อื่น ปัจจุบันฐานข้อมูลความเชื่อมโยงทางโทรศัพท์ ดังกล่าวมีขนาดประมาณ 110 MB ดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ สามารถนำมาใช้วิเคราะห์เครือข่ายหรือผู้ต้องสงสัยได้หลายกรณี อาทิ ขบวนการค้าอาวุธสงครามพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขบวนการลักลอบ ตัด ขน ไม้พะยูง เครือข่ายฮั้วประมูล ฯลฯ เป็นต้น
ปัญหาอุปสรรค์ที่พบ ณ ปัจจุบันพบว่ามีความยุ่งยากในการดำเนินการเกี่ยวกับการขออนุมัติใช้และจัดตั้งแหล่งข่าวในแต่ละปีงบประมาณมีความล่าช้ามาก ทำให้มีผลต่อการเบิกจ่ายค่าตอบแทนแหล่งข่าว และไม่สามารถเบิกได้ในช่วงของเดือนต้นปีงบประมาณ ทั้งที่วัตถุประสงค์ของโครงการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลอาชญากรรมระดับพื้นที่น่าจะเป็นการแสวงหาความมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ เพื่อจัดตั้งผู้ให้ข่าวสาร ในการแจ้งข่าวสารและเบาะแส ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีเป้าหมายในการสืบสวนสอบสวน เนื่องจากการสืบสวนสอบสวนมีงบประมาณในส่วนนี้โดยตรงอยู่แล้ว หากนำระเบียบกรมสอบสวนคดีพิเศษว่าด้วยการใช้แหล่งข่าวบุคคล พ.ศ. ๒๕๕๐ มาใช้โดยเคร่งครัดตั้งแต่ชั้นการจัดทำเอกสารขออนุมัติใช้และจัดตั้งแหล่งข่าว จะทำให้เกิดปัญหาอุปสรรคได้ซึ่งเกิดขึ้นทุกปีงบประมาณ การดำเนินการในเรื่องดังกล่าวควรปรับใช้เท่าที่จำเป็น โดยควรเคร่งครัดในส่วนของการตรวจสอบการเบิกจ่ายผลตอบแทนแหล่งข่าวให้เข้มข้นขึ้นกว่าเดิม แล้วลดขั้นตอนอื่นที่ไม่จำเป็นลง จะทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ลักษณะของการเก็บข้อมูลอาชญากรรมในพื้นที่ ยังเป็นการเก็บรวบรวมจากเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่ได้รับจากเจ้าหน้าที่พนักงานสืบสวนสอบสวน หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ หรือหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง หรือแหล่งข่าว หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากพนักงานสอบสวน โดยนำมาจัดเก็บเป็นสารบบ หรือเก็บแบบแฟ้มและจัดเรียงตามรหัสหรือหมายเลขทะเบียน หรือจัดเรียงตามลำดับตัวอักษร แล้วแต่ตามหลักวิธีการต่างๆ ซึ่งข้อมูลต่างๆ ที่ทำการจัดเก็บนอกจากฐานข้อมูลบุคคล และฐานข้อมูลความเชื่อมโยงทางโทรศัพท์ อีกส่วนหนึ่งได้แก่ เอกสารหมายจับและตำหนิรูปพรรณผู้กระทำความผิด หรือผู้ต้องขังในเรือนจำ เป็นต้น
ส่วนลักษณะของการตรวจสอบและแจ้งผลของการตรวจสอบผู้กระทำความผิด เป็นการปฏิบัติงานด้านข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากร จะมีลักษณะของการเก็บข้อมูลดังกล่าวข้างต้น ทำให้มีข้อมูลภายในฐานข้อมูลเป็นจำนวนมากและมีการตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องและมีการตรวจสอบและแจ้งผลตลอดเวลา สำหรับวิธีการตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวส่วนใหญ่ จะต้องขอตรวจสอบไปที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยสำนักเทคโนโลยีและศูนย์ข้อมูลการตรวจสอบ เป็นหน่วยงานดำเนินการ ซึ่งจะใช้วิธีการตรวจสอบด้วยระบบดัชนีและลายพิมพ์นิ้วมือ ซึ่งเป็นระบบเดียวกันกับ เอฟ.บี.ไอ นอกจากนี้ยังมีการนำเอาไมโครฟิล์มและเครื่องคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้งานอีกด้วย ในส่วนของศูนย์ปฏิบัติคดีพิเศษภาค ๔ ซึ่งในฐานข้อมูลอาชญากรรมบางประเภทหรือบางส่วน จะเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ หากตรวจสอบพบเจ้าหน้าที่ก็จะเสนอขออนุมัติผู้อำนวยการศูนย์ฯเพื่อทำการแจ้งผลเป็นหนังสือลับ-ลับที่สุดไปยังผู้ขอตรวจสอบต่อไป
ประโยชน์ของการจัดทำฐานข้อมูลและวิเคราะห์อาชญากรรม
๑. ด้านการสืบสวน ระบบฐานข้อมูลประวัติอาชญากร มีประโยชน์ในด้านการสืบสวนเช่นในกรณีที่เจ้าทุกข์หรือพยาน สามารถจดจำลักษณะและใบหน้าของผู้กระทำความผิดได้ สามารถช่วยสืบค้นหาตัวผู้กระทำความผิดได้จากงานด้านทะเบียนประวัติอาชญากร ในลักษณะของงานด้านสารบบ ภาพถ่ายคนร้าย หรือสมุดภาพคนร้าย การสเก็ตซ์ภาพคนร้ายและการประกอบใบหน้าบุคคล หรือในกรณีที่ทราบชื่อผู้กระทำความผิดหรือสามารถจดจำตำหนิรูปพรรณบางอย่างของผู้กระทำความผิดได้ หรือทราบเพียงข้อมูลและวิธีการดำเนินการของผู้กระทำความผิด ก็สามารถใช้งานทะเบียนประวัติอาชญากรในการช่วยสืบค้นได้จากการค้นหาดัชนีชื่อกลาง ดัชนีตำหนิรูปพรรณ ตำหนิแผลเป็น รอยสักหรือสิ่งพิกลพิการภายในร่างกาย หรือค้นหาด้วยดัชนีวิธีการ เช่น ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดนำทรัพย์สินไปจำนำ งานด้านระบบฐานข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรสามารถช่วยตรวจสอบและค้นหาได้จากการตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือในต้นขั้วของตั๋วจำนำ ค้นหาด้วยดัชนีลายพิมพ์นิ้วมือเดียวและตรวจสอบรายชื่อได้จากดัชนีชื่อกลาง หรือในกรณีที่พบทรัพย์สินของกลางแต่ไม่ทราบตัวผู้เป็นเจ้าของ และถ้ามีการแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจ ก็สามารถสืบค้นหาได้จากดัชนีทรัพย์สินที่ถูกประทุษร้าย การตรวจสอบตัวผู้กระทำความผิดที่หลบหนีจากการจับกุมตัวของเจ้าหน้าที่ งานด้านทะเบียนประวัติอาชญากรก็สามารถช่วยสืบหาตัวด้วยการออกประกาศหมายจับและจัดส่งให้แก่สถานีตำรวจทั่วราชอาณาจักรเพื่อติดตามจับกุมตัวผู้กระทำความผิดต่อไปได้
๒. ด้านการสอบสวน ระบบฐานข้อมูลประวัติอาชญากร จะช่วยในการตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมื้อของผู้ต้องหา เพื่อที่ต้องการทราบว่าผู้ต้องหานั้น เคยกระทำความผิดหรือมีคดีเคยต้องโทษมาก่อนหรือไม่ และช่วยในการตรวจสอบประวัติการทำแผนประทุษกรรมของผู้ต้องหา เพื่อตรวจสอบผู้ต้องหาว่าเคยกระทำความผิดมาก่อนด้วยวิธีการใด และเคยต้องโทษคดีความใดบ้าง นอกจากนั้นระบบฐานข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากร ยังช่วยตรวจสอบดัชนีการประกาศสืบจับตัวผู้กระทำความผิดทางคดีอาญา หรืออยู่ในระหว่างหลบหนีจากการจับกุม และช่วยตรวจสอบสายพิมพ์นิ้วมือของศพ เพื่อใช้ในการสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดต่อไป
๓. ด้านการป้องกันปราบปราม กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยสำนักเทคโนโลยีและศูนย์ข้อมูลการตรวจสอบ จะมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการจัดทำประวัติผู้ต้องหาตามหมายจับ ผู้ต้องขังในเรือนจำ และบุคคลที่พ้นโทษ พร้อมจัดส่งไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่บุคคลที่พ้นโทษมีภูมิลำเนาอยู่ เพื่อเป็นการแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่รับทราบ และจัดเก็บข้อมูลของบุคคลที่พ้นโทษเอาไว้ พร้อมกับคอยสอดส่องดูแลพฤติกรรมและความเคลื่อนไหว ถ้าหากบุคคลที่พ้นโทษไปแล้วกระทำความผิดอีกครั้ง ก็สามารถนำเอาข้อมูลและรายละเอียดต่างๆมาใช้ในการสืบสวนและปราบปรามต่อไป
ปัจจุบัน”รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์” (e-Government) คือวิธีการในการบริหารจัดการภาครัฐสมัยใหม่ โดยการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบเครือข่ายสื่อสาร เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการของภาครัฐ รวมทั้งปรับปรุงการให้บริการแก่ประชาชน บริการงานทางด้านข้อมูล และสารสนเทศ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ประชาชนได้รับบริการจากภาครัฐที่ดีขึ้น มีความใกล้ชิดจากภาครัฐมากขึ้น อีกทั้งทำให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขันกับนานาชาติได้ดีขึ้นด้วย ความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นผลให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจและพนักงานสอบสวนสามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้อย่างรวดเร็ว.
นายภาสกร เจนประวิทย์
ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษภาค ๔
ตัวอย่างการทำความเชื่อมโยงโทรศัพท์ ในโปรแกรม i2
ตัวอย่างข้อมูลบุคคลที่จัดทำในระบบ iBase
การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ในการจัดทำฐานข้อมูลอาชญากรรมของ ศปพ.ภาค ๔