การดำเนินคดีข้อหาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นความผิดตามประมวลรัษฎากร กรณี บริษัท โรงบรรจุแก๊ส แจ้งวัฒนะ ๒๓ จำกัด
เผยแพร่: 5 ส.ค. 2559 9:44 น. ปรับรุง: 5 ส.ค. 2559 9:44 น. เปิดอ่าน 3897 ครั้งการดำเนินคดีข้อหาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและ ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นความผิดตามประมวลรัษฎากร กรณี บริษัท โรงบรรจุแก๊ส แจ้งวัฒนะ ๒๓ จำกัด
โดย นายพิสิฐชัย สว่างวัฒนากร พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ชำนาญการพิเศษ
หัวหน้าศูนย์สืบสวนสอบสวน สำนักคดีภาษีอากร
หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ ๑๖/๒๕๕๖
คดีนี้ กรมสรรพากรได้ ร้องทุกข์ขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินคดี โดยกล่าวหาว่า เมื่อระหว่างวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๗ ถึงวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๘ เวลากลางวันต่าง กรรมต่างวาระ บริษัท โรงบรรจุแก๊ส แจ้งวัฒนะ ๒๓ จำกัด โดย นาย ค.(นามสมมุติ) ในฐานะนิติบุคคล ผู้ต้องหาที่ ๑ ประกอบกิจการจำหน่ายแก๊สหุงต้ม และรับอัดบรรจุแก๊ส (ขายและบรรจุ) ในรอบระยะเวลาบัญชี ๒๕๔๗ บริษัทฯ มี นาย อ. (นามสมมุติ) เป็นกรรมการผู้จัดการในฐานะส่วนตัวผู้ต้องหาที่ ๒ นาย พ.(นามสมมุติ) เป็นกรรมการผู้จัดการในฐานะส่วนตัว ผู้ต้องหาที่ ๓ และนางสาว น.(นามสมมุติ) เป็นกรรมการผู้จัดการในฐานะส่วนตัว ผู้ต้องหาที่ ๔ ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (แบบ ภ.ง.ด.๕๐, ภ.ง.ด.๕๑) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว แสดงรายได้จากการประกอบกิจการ จำหน่ายแก๊สหุงต้มและรับอัดบรรจุแก๊ส มีกำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษีเป็นเงินภาษี ๑,๔๒๔,๓๐๑.๖๒.- บาท และยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (แบบภ.พ.๓๐) สำหรับ เดือนภาษีมกราคม ๒๕๔๗ ถึงเดือนภาษีธันวาคม ๒๕๔๗ แต่จากการตรวจสอบการเสียภาษีอากรดังกล่าวของกรมสรรพากรพบว่า บริษัทโรงบรรจุแก๊ส แจ้งวัฒนะ ๒๓ จำกัด แสดงกำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษีต่ำไปและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มคลาดเคลื่อนไป โดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบายหรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน หลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรตามมาตรา ๓๗ แห่งประมวลรัษฎากร และนำใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไปใช้ในการเครดิตภาษีอันเป็นความผิดตามมาตรา ๙๐/๔(๗) ประมวลรัษฎากร และออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิจะออกตามมาตรา ๘๖/๑๓ อันเป็นความผิดตามมาตรา ๙๐/๔(๓) แห่งประมวลรัษฎากร จำนวนทั้งสิ้น ๙๖ ฉบับ
อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้เห็นชอบเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๖ ให้ทำการสืบสวนสอบสวนตามมาตรา ๒๑ วรรคหนึ่ง(๑) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.๒๕๔๗ และรับเป็นคดีพิเศษที่ ๑๖/๒๕๕๖ เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ซึ่งสำนักคดีภาษีอากรได้มีคำสั่งที่ ๑/๒๕๕๖ ลงวันที่
๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ และคำสั่งที่ ๒๔ /๒๕๕๖ แต่งตั้งคณะทำงานสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อดำเนินการสืบสวนสอบสวน มีนายพิสิฐชัย สว่างวัฒนากร พนักงานสอบสวนคดีพิเศษชำนาญการพิเศษ เป็นหัวหน้าคณะทำงานสอบสวนคดีพิเศษ
จากการสอบสวน พบว่า
๑. ความผิดฐาน โดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน หลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร
แต่ทางคดีมีพยานหลักฐานรับฟังได้ว่าตามวันเวลาที่เกิดเหตุ นิติบุคคลผู้ต้องหาที่ ๑ กระทำความผิด กรรมการผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานต้องรับผิด จึงเป็นการกระทำร่วมกับผู้ต้องหาที่ ๒ ผู้ต้องหาที่ ๓ และผู้ต้องหาที่ ๔ ในฐานะส่วนตัว ซึ่งเป็นกรรมการผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานแต่เพียงผู้เดียวของผู้ต้องหาที่ ๑ ในแต่ละช่วงเวลาที่เกิดเหตุ เป็นการกระทำความผิดฐานดังกล่าวจริง เป็นเหตุให้กรมสรรพากรได้รับความเสียหาย อันเป็นความผิดฐาน ร่วมกันความผิดฐาน โดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน หลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ตามมาตรา ๓๗ (๒) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบมาตรา ๘๓ แห่งประมวลกฎหมายอาญา
๒. ความผิดฐาน ออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิจะออก
ตามวันเวลาที่เกิดเหตุบริษัทฯผู้ต้องหาที่ ๑ ได้ออกใบกำกับภาษีค่าเช่าถังแก๊ส จำนวน ๙๖ ฉบับ จากพยานหลักฐานยืนยันได้ว่าไม่ได้มีการให้เช่าถังกันจริง จึงถือเป็นการออกใบกำกับภาษีขายโดยไม่มีสิทธิที่ จะออก ตามมาตรา ๘๖/๑๓ แห่งประมวลรัษฎากร ต้องรับผิดในภาษียมูลค่าเพิ่มตามจำนวนที่ปรากฏในใบกำกับภาษีขายที่บริษัทฯ ออก โดยมีมูลค่ารวม ๑๓,๐๐๓,๑๖๑.๐๗.-บาท ภาษีขายจำนวน ๙๑๐,๒๒๑.๒๗.- บาท การกระทำของนิติบุคคลผู้ต้องหาที่ ๑ ร่วมกับผู้ต้องหาที่ ๓ และผู้ต้องหาที่ ๔ ในฐานะส่วนตัว ซึ่งเป็นกรรมการผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานแต่เพียงผู้เดียวของผู้ต้องหาที่ ๑ ในแต่ละช่วงเวลาที่เกิดเหตุ เป็นการกระทำในความผิดฐาน ร่วมกันออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิจะออก ตามมาตรา ๙๐/๔ (๓) แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา ๘๓ แห่งประมวลกฎหมายอาญาและเป็นการกระทำผิดต่างกรรมต่างวาระกัน รวม ๙๖ กรรม
๓. ความผิดฐาน นำใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไปใช้ในการเครดิตภาษี
ตามวันเวลาที่เกิดเหตุ นิติบุคคลผู้ต้องหาที่ ๑ กระทำผิดร่วมกับผู้ต้องหาที่ ๓ และผู้ต้องหาที่ ๔ ในฐานะส่วนตัว ซึ่งเป็นกรรมการผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานแต่เพียงผู้เดียวของผู้ต้องหาที่ ๑ ในแต่ละช่วงเวลาที่เกิดเหตุ นำใบกำกับภาษีค่าเช่าถังแก๊สระหว่างบริษัทฯ กับ บมจ.ป.(นามสมมุติ) จำนวน ๘ ฉบับ ที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไปใช้ในการเครดิตภาษี ทำให้กรมสรรพากรได้รับความเสียหาย มาตรา ๙๐/๔ (๗) มาตรา ๙๐/๕ แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา ๘๓ แห่งประมวลกฎหมายอาญาโดย ผู้ต้องหาที่ ๑ ได้กระทำผิดในข้อหาดังกล่าวเมื่อระหว่างวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๔๗ ถึงวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๔๘ ใบกำกับภาษี จำนวน ๘ ฉบับ (ฉบับลงวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๔๗) รวม ๓ ฉบับ, ฉบับลงวันที่ ๑ และ๒๕ กันยายน ๒๕๔๗ รวม ๒ ฉบับ ฉบับลงวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๗ ฉบับลงวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ และฉบับลงวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๔๗)
ทางคดีมีพยานหลักฐานรับฟังเป็นที่ยุติว่าตามวันเวลาเกิดเหตุ การกระทำของ บริษัท โรงบรรจุแก๊ส แจ้งวัฒนะ ๒๓ จำกัด ผู้ต้องหาที่ ๑ ในฐานะนิติบุคคล นาย อ (นามสมมุติ) ผู้ต้องหาที่ ๒ นาย พ.(นามสมมุติ) ผู้ต้องหาที่ ๓ และนางสาว น. (นามสมมุติ) ผู้ต้องหาที่ ๔ เป็นการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร อันเข้าลักษณะความผิด “ร่วมกันกระทำโดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน หลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร และการกระทำของบริษัท โรงบรรจุแก๊ส แจ้งวัฒนะ ๒๓ จำกัด ผู้ต้องหาที่ ๑ ในฐานะนิติบุคคล นาย พ. ผู้ต้องหาที่ ๓ และนางสาว น.(นามสมมุติ) ผู้ต้องหาที่ ๔ ออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิจะออกมาตรา ๘๖/๑๓ และนำใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไปใช้ในการเครดิตภาษี” ตามมาตรา ๓๗(๒) มาตรา ๙๐/๔ (๓) มาตรา ๙๐/๔ (๗) มาตรา ๙๐/๕ แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา ๘๓ แห่งประมวลกฎหมายอาญา ทางคดีมีพยานหลักฐานพอฟ้อง เห็นควรสั่งฟ้อง ในฐานความผิดและบทกฎหมายดังกล่าว และเห็นควรสั่งไม่ฟ้องนาย อ.(นามสมมุติ) ผู้ต้องหาที่ ๒ ฐานออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิจะออกมาตรา ๘๖/๑๓ และนำใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไปใช้ในการเครดิตภาษี” ตามมาตรา ๙๐/๔ (๓) มาตรา ๙๐/๔ (๗) มาตรา ๙๐/๕ แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา ๘๓ แห่งประมวลกฎหมายอาญา
คดีนี้ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ ๔ มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่ ๑ และ ๔ มีความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๓๗ (๑) (๒) , ๘๖/๑๓, ๙๐/๔(๓)(๗),๙๐/๕ ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ และศาลอาญามีคำพิพากษา
๑. ศาลอาญามีคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ อ.๒๗๒๔/๒๕๕๗ คดีหมายเลขแดงที่ อ.๔๙๙๗/๒๕๕๗ พิพากษาว่าบริษัท โรงบรรจุแก๊ส แจ้งวัฒนะ ๒๓ จำกัด (ผู้ต้องหาที่ ๑)มีความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๓๗ (๑) (๒) , ๘๖/๑๓, ๙๐/๔(๓)(๗),๙๐/๕ ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ พิพากษา
๑.๑. ฐานร่วมกันออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิจะออก ลงโทษปรับกระทงละ ๒๐๐,๐๐๐ บาท รวม ๕ กระทงเป็นปรับ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท
๑.๒. ฐานเป็นผู้ประกอบการร่วมกันนำใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฏหมายไปใช้ในการเครดิตภาษีลงโทษปรับกระทงละ ๒๐๐,๐๐๐ บาท รวม ๕ กระทงเป็นปรับ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท
๑.๓. ฐานหลีกเลี่ยงหรือพยานยามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ลงโทษปรับ ๒๐๐,๐๐๐ บาท
รวม ๑๑ กระทงปรับ ๒,๒๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงปรับ ๑,๑๐๐,๐๐๐ บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงปรับ ๑,๑๐๐,๐๐๐ บาท
ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ ตามคดีหมายแดงที่ ๒๐๖๑๙/๒๕๕๘ พิพากษาแก้ว่า ฐานร่วมกันออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิจะออก ลงโทษปรับกระทงละ ๒๐,๐๐๐ บาท รวม ๙๖ กระทงเป็นปรับ ๑,๙๒๐,๐๐๐ บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงปรับ ๙๖๐,๐๐๐ บาท เมื่อรวมโทษในคดีอื่นแล้ว รวมปรับ ๑,๕๖๐,๐๐๐ บาท นอกจากที่แก้ไขให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น คดีถึงที่สุดเนื่องจากไม่มีการฎีกา
๒. ศาลอาญามีคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ อ.๒๗๘๓/๒๕๕๗ คดีหมายเลขแดงที่ อ.๕๕๑๙/๒๕๕๗ พิพากษาว่านางสาว น.(นามสมมุติ) จำเลย มีความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๓๗ (๑) (๒) , ๘๖/๑๓, ๙๐/๔(๓)(๗),๙๐/๕ ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓
๒.๑. ฐานร่วมกันออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิจะออก ลงโทษ ๕ กระทง
๒.๒. ฐานเป็นผู้ประกอบการร่วมกันนำใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฏหมายไปใช้ในการเครดิตภาษีลงโทษ ๕ กระทง
๒.๓. ฐานหลีกเลี่ยงหรือพยานยามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร
เป็นการกระทำผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากันจึงให้ลงโทษฐานร่วมกันนำใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฏหมายไปใช้ในการเครดิตภาษีแต่กระทงเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๐ จำคุกจำเลย ๕ กระทงๆละ ๒ ปี รวมจำคุก ๑๐ ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๕ ปี
โจทก์อุทธรณ์คำพิพากษาศาลอาญา ศาลอุทธรณ์พิพากษา คดีหมายเลขดำที่ ๒๗๑๙/๒๕๕๘ คดีหมายเลขแดงที่ ๒๐๖๒๐/๒๕๕๘ พิพากษาแก้เป็นว่าเป็นการกระทำผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๑
ฐานร่วมกันออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิจะออก จำคุกกระทงละ ๓ เดือน รวม ๔๘ กระทงจำคุก ๑๔๔ เดือน
ฐานเป็นผู้ประกอบการร่วมกันนำใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฏหมายไปใช้ในการเครดิตภาษีจำคุกกระทงละ ๖ เดือน รวม ๓ กระทงจำคุก ๑ ปี ๖ เดือน
ฐานหลีกเลี่ยงหรือพยานยามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร จำคุก ๒ ปี
รวมจำคุก ๓ ปี ๑๕๐ เดือนจำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๑ ปี ๘๑ เดือน นอกจากที่แก้ไขให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น คดีถึงที่สุดเนื่องจากไม่มีการฎีกา