การฟ้องคดีศาลปกครอง ตอน ๒
เผยแพร่: 13 ส.ค. 2557 16:59 น. ปรับรุง: 13 ส.ค. 2557 16:59 น. เปิดอ่าน 3506 ครั้งการฟ้องคดีศาลปกครอง ตอน ๒
นายวรวุธ มีจิตต์
กรมสอบสวนคดีพิเศษ
ในบทความการฟ้องคดีของศาลปกครองในตอนที่แล้ว ได้กล่าวถึงเขตอำนาจของศาลปกครอง และเงื่อนไขในการฟ้องคดีปกครอง ซึ่งมี่ 10 เงื่อนไข โดยได้กล่าวถึงเงื่อนไขที่ 1 คือ ความเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือเป็นผู้เสียหาย (ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542) ไปแล้ว
ในบทความตอนนี้เป็นบทความ สุดท้ายที่จะกล่าวถึงอีก 9 เงื่อนไขที่จะต้องพิจารณาอย่างเคร่งครัด ดังนี้คือ
2 . การออกคำบังคับได้ (ตามมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542)ซึ่งแยกได้ 2 กรณี คือ
(ก.) ต้องเป็นคำขอที่ศาลออกคำบังคับให้ได้เช่น ขอให้ดำเนินการทางวินัย ในกรณีนี้ศาลไม่อาจกำหนดคำบังคับได้
(ข.) ต้องเป็นกรณีที่มีความจำเป็นต้องมีคำบังคับของศาลจึงจะเยียวยาความเดือดร้อนได้
3. ได้มีการแก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนเสียหายครบขั้นตอนแล้ว (ตามมาตรา 42 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542) ในกรณีที่การออกคำสั่งทางปกครองใด กฎหมายกำหนดให้ผู้ได้รับความเดือดร้อน เสียหาย มีสิทธิอุทธรณ์ หรือร้องทุกข์ ซึ่งก่อนฟ้องต้องดำเนินการอุทธรณ์หรือร้องทุกข์ก่อน
4. ต้องเป็นคำฟ้องที่สมบูรณ์มีเนื้อหาครบถ้วน ซึ่งระบุในมาตรา 45
5. ต้องชำระค่าธรรมเนียมศาลโดยถูกต้อง การฟ้องคดีปกครองไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียม หากต้องชำระค่าธรรมเนียมศาลจะใช้เฉพาะคำฟ้องขอให้สั่งให้ใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์สินอันเนื่องจากคดีความมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) หรือ (4) เท่านั้นที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล โดยต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลตามอัตราที่ระบุไว้ในตาราง 1. ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับแก้ไข 2551)
6. ไม่พ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดี (มาตรา 49)
7. ผู้ฟ้องคดีต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถตามกฎหมาย โดยมีหลักกฎหมายที่จะต้องพิจารณา คือ
ก.) ต้องมีความสามารถในการใช้สิทธิ
ข.) ในกรณีที่ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้เยาว์ ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี บริบูรณ์ ศาลอาจอนุญาตให้ฟ้องคดีได้
8. มีกฎหรือคำสั่งทางปกครองในเรื่องที่จะฟ้องคดีนั้น ถ้าเรื่องที่จะฟ้องเป็นเพียงความเห็นหรือตอบข้อหารือ หรืออยู่ในขั้นตระเตรียมการของฝ่ายปกครอง แต่ยังไม่มีการออกคำสั่ง จึงยังไม่อาจฟ้องได้ ส่วนการฟ้องเรียกค่าเสียหาย กรณีผิดสำนวนทางปกครอง ไม่จำเป็นต้องมีคำสั่งปฏิเสธ ไม่ใช้เงินจากฝ่ายปกครองก่อน หรือในกรณีมีมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างกฎกระทรวงแล้ว แต่ยังไม่มีการลงนามรัฐมนตรี ศาลปกครองจะรับคำฟ้องได้พิจารณาไม่ได้ ตัวอย่างคำวินิจฉัยศาลปกครองกลางคดีหมายเลขแดงที่ 817/2545 (บันทึกเสนอความเห็นว่าควรเลือกซื้อสินค้ายี่ห้อใด โดยยังไม่มีคำสั่งตัดสินว่าจะเลือกสินค้าของผู้ใด ยังไม่มีคำสั่งทางปกครอง ไม่รับคำฟ้อง)
9. ไม่เป็นการฟ้องซ้อน หรือฟ้องซ้ำ ตัวอย่าง คำวินิจฉัย คำสั่ง ศาลปกครอง สูงสุด ที่ 150/2547 (ผู้ฟ้องคดี ฟ้องขอให้ศาล เพิกถอนประกาศรายชื่อกรรมการสรรหา กทช.ชุดใหม่ ซึ่งเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้เป็นเหตุเดียวกันกับที่ผู้ฟ้องคดีได้เคยยื่นฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น ซึ่งศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาไปแล้ว และยังอยู่ในระยะเวลาการอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลปกครองสูงสุด เมื่อผู้ฟ้องคดี โดยมีคำขอในประเด็นเดียวกันอีก จึงเป็นฟ้องซ้อน)
10. ไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ตัวอย่างคำวินิจฉัย คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 756/2548 (การที่ผู้ฟ้องคดีได้นำคดีซึ่งเป็นประเด็นเดียวกัน ตลอดจนมีคำขอบังคับในเรื่องเดียวกันกับกรณีที่ผู้ฟ้องคดี
ได้ยื่นเรื่องร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ ยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรม และศาลปกครองจนคดีถึงที่สุดแล้ว มาฟ้องต่อศาลปกครองอีก เป็นการฟ้องซ้ำ ซึ่งเป็นข้อต้องห้ามตามข้อ 97)
ขอสรุปการพิจารณาเกี่ยวกับเงื่อนไขในการฟ้องคดี ได้ตามที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น