ขุดรากถอนโคนเครือข่ายยาเสพติดด้วยกฎหมายฟอกเงินทางอาญา

เผยแพร่: 17 ก.ย. 2558 11:30 น. ปรับรุง: 17 ก.ย. 2558 11:30 น. เปิดอ่าน 15306 ครั้ง  
 

ขุดรากถอนโคนเครือข่ายยาเสพติดด้วยกฎหมายฟอกเงินทางอาญา

                                                                                               โดย พ.ต.ท.บรรณฑูรย์ ฉิมกรา

                   ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาที่มีความสำคัญและจำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไขโดยใช้วิธีการที่ถูกต้องเหมาะสมควบคู่กันไปหลายๆทาง เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าเป้าหมายสำคัญของการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดคือผลประโยชน์ตอบแทนที่ได้จากการผลิตหรือการค้ายาเสพติด ซึ่งมีจำนวนมูลค่ามหาศาลและผู้กระทำความผิดจะพยายามปกปิดหรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวพันกับการกระทำความผิด โดยอาศัยสถาบันการเงินหรือหน่วยงานบางแห่งเป็นเครื่องมือทำให้เงินหรือทรัพย์สินให้เป็นสิ่งที่ได้มาอย่างสุจริตเสียก่อน เพื่อให้สะดวกต่อการนำไปใช้หมุนเวียนในการขยายกระบวนการค้ายาเสพติดหรือประกอบอาชญากรรมอื่นต่อไป ซึ่งวิธีการดังกล่าวเรียกว่าเป็น “การฟอกเงิน”

          บทบัญญัติของกฎหมายซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่จะดำเนินการกับตัวบุคคลผู้กระทำความผิดเป็นหลัก เช่น ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งมีมาตรการพิเศษที่จะดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดได้ แต่หากในคดีอาญาพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องหรือคดีถึงที่สุดศาลให้ยกฟ้องก็ไม่อาจดำเนินการกับทรัพย์สินของผู้ต้องหาหรือจำเลยได้แต่อย่างใด จากการที่มีข้อบกพร่องหรือช่องว่างของกฎหมายในเรื่องนี้ ประเทศไทยจึงถูกแพ่งเล็งว่าจะถูกใช้เป็นแหล่งฟอกเงินที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง จนกระทั่งประเทศไทยมีพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542มาใช้บังคับกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดในคดียาเสพติดได้โดยตรง โดยใช้หลักการริบทรัพย์ทางแพ่ง (Civil Forfeiture) ที่ไม่ต้องดำเนินคดีอาญาเป็นหลัก ซึ่งจะเป็นการทำลายวงจรเศรษฐกิจอาชญากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ จัดว่าเป็นกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อการปราบปรามองค์กรอาชญากรรมที่กระทำความผิดอันมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของสังคมโดยส่วนรวมหรือมีผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศ

         รูปแบบของการฟอกเงิน

                   เนื่องจากการฟอกเงิน มีวัตถุประสงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายให้เป็นเสมือนเงินที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อปกปิดแหล่งที่มาของเงินหรือลวงให้ผู้อื่นเข้าใจว่าเงินนั้นๆได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายจึงทำให้มีรูปแบบของการฟอกเงินแตกต่างกันสุดแล้วแต่ว่าจะมีปัจจัยใดเป็นเครื่องอำนวยความสะดวกซึ่งส่วนใหญ่มีรูปแบบต่างๆ จำแนกได้ดังนี้

          การนำเงินสดติดตัวออกนอกประเทศ

                             การนำเงินสดที่ได้มาจากการกระทำความผิดติดตัวหรือนำไปใช้จ่ายในต่างประเทศ แต่โดยที่การโยกย้ายเงินสดที่ได้รับจากการค้ายาเสพติดหรืออาชญากรรมอื่นๆเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากมีจำนวนมากและธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับเงินสดจำนวนมากๆอาจจะถูกเพ่งเล็งได้ง่ายหรืออาจมีมาตรการกำกับควบคุมการทำธุรกิจด้วยเงินสดอย่างเข็มงวด รวมทั้งระบบการเงินของบางประเทศอาจจะไม่นิยมการเบิกจ่ายหรือการทำธุรกิจโดยอาศัยเงินสด ดังนั้นการใช้เงินสดที่ได้มาจากการกระทำความผิดจึงกระทำเฉพาะในบางประเทศที่ไม่เข้มงวดในการใช้เงินสดในการทำธุรกิจด้านการเงินหรืออาศัยการนำเงินสดผ่านพรมแดนระหว่างประเทศโดยติดสินบนเจ้าพนักงานซึ่งเป็นการเสี่ยงภัยอย่างมากและไม่นิยมกระทำแล้ว

                   การฝากเงินกับสถาบันการเงินในประเทศ

                             เป็นวิธีที่นิยมใช้ในการฟอกเงิน ซึ่งการฝากเงินมักจะใช้นามแฝงหรือใช้ชื่อปลอม เพื่อไม่ให้สามารถสืบสวนหาเจ้าของที่แท้จริงได้ นิยมใช้ในประเทศที่ไม่เข้มงวดต่อการเปิดเผยชื่อที่แท้จริงของเจ้าของธุรกิจหรือเจ้าของบัญชีและไม่มีการให้รายงานถึงธุรกรรมที่มีมูลค่าค่อนข้างสูงอันเป็นจุดอ่อนและทำให้เกิดความสะดวกในการใช้สถาบันการเงินเพื่อการฟอกเงินได้ง่าย

         การส่งเงินสดหรือโอนเงินออกนอกประเทศ

                   เป็นการนำเงินสดไปฝากไว้ในประเทศที่ไม่มีการควบคุมระบบธนาคารหรือสถาบันการเงินอย่างเข้มงวด เพื่อให้เงินที่ผิดกฎหมายเข้าไปอยู่ในระบบการเงินของประเทศนั้น และโอนเงินกลับไปสู่ผู้ค้า             ยาเสพติด หรืออาชญากรโดยวิธีต่างๆ เช่น โดยทางโทรคมนาคม (Wire Transfer) เป็นต้น เงินที่ผิดกฎหมายก็จะแปรสภาพเป็นเงินที่ถูกต้องตามกฎหมายอันเป็นจุดอ่อนของประเทศที่ไม่เข้มงวดเรื่องการโอนเงินออกนอกประเทศ

         การจัดตั้งบริษัทหรือกิจการขึ้นบังหน้า

                   เป็นการที่ผู้ค้ายาเสพติดหรืออาชญากรปกปิดแหล่งที่มาและความเป็นเจ้าของเงินที่ได้มาโดยผิดกฎหมาย ด้วยการจัดตั้งหรือซื้อกิจการในต่างประเทศ เช่น ในประเทศที่เป็นเขตปลอดภาษี เป็นต้น แล้วให้กิจการของตนในประเทศกู้ยืมเงินหรือซื้อสินค้าจากกิจการในต่างประเทศดังกล่าวในราคาแพงกว่าปกติ ทั้งนี้เพื่อให้เงินที่ได้มาโดยผิดกฎหมายถูกใช้จ่ายหมุนเวียนระหว่างกิจการทั้งสองแห่งดังกล่าว

          การดำเนินธุรกรรมอื่นๆ

                   นอกจากวิธีการดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีวิธีการอื่นๆอีกมาก เช่น

- นำเงินไปซื้อกิจการที่มีผลขาดทุน แต่ธุรกิจมีรายรับเป็นเงินสด เช่น โรงแรม กิจการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ภัตตาคาร ร้านค้าปลีก เป็นต้น ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ก็จะกลับฟื้นขึ้นเพราะอาศัยดอกผลจากเงินผิดกฎหมายดังกล่าว หลังจากนั้นจึงค่อยถ่ายเทเงินออกไปใช้

- การนำเงินไปซื้อตราสารที่โอนเปลี่ยนมือได้ ซึ่งตราสารนั้นไม่มีการควบคุมจากสถาบันการเงินผู้ออก ทำให้ยากแก่การสืบหาผู้ที่ซื้อและรับเงินตามตราสารนั้น

- นอกจากนี้แล้ว ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการสื่อสารได้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทำให้การโอนเงินในระบบสื่อสารทางอากาศมีการควบคุมน้อยกว่าการโอนเงินสด การโอนเงินต่างๆ จะมุ่งเน้นที่ความรวดเร็วแต่ประการเดียว พนักงานโอนเงินจะไม่รู้จักลูกค้า และไม่ทราบวัตถุประสงค์ในการโอนเงิน วิธีการดังกล่าวจึงอาจเป็นช่องทางหลบซ่อนเงินผิดกฎหมายหรือการทุจริตของนักฟอกเงินได้เป็นอย่างดี

แหล่งที่มาของการฟอกเงิน

          แหล่งที่มาของเงินได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายที่มักจะนำมาฟอกเงินมีมาจากแหล่งใหญ่ อาทิ เช่น เงินจากการค้ายาเสพติด เงินที่ได้จากการฉ้อโกงประชาชน เงินจากวงพนัน เงินจากวงการเมือง เงินสินบน เงินจากบริษัท เงินส่วนตัวที่ต้องการปิดบัง เงินจากกลุ่มเศรษฐี เงินจากรัฐ และเงินนอกระบบอื่นๆ

          สำหรับเงินจากการค้ายาเสพติด ปัจจุบันนับเป็นอาชญากรรมทางด้านการค้ายาเสพติดถือว่าเป็นแหล่งที่มาซึ่งใหญ่ที่สุดของการฟอกเงิน เนื่องจากเป็นอาชญากรรมที่ให้ผลกำไรตอบแทนสูงและยากต่อการสอบสวนปราบปราม อันเป็นสิ่งล่อใจให้มีผู้คิดเสี่ยงที่จะก่ออาชญากรรมประเภทนี้ประกอบกับเป็นอาชญากรรมที่เกิดขึ้นได้ง่ายและแพร่หลาย

แหล่งฟอกเงิน

          แหล่งหรือสถานที่สำหรับการฟอกเงินนั้น อาจกล่าวได้ว่ามีอยู่ทั่วไปทั้งภายนอกประเทศและภายในประเทศขึ้นอยู่กับความสะดวกของการฟอกเงินว่าจะใช้วิธีใด แต่สถานที่ที่มีการใช้เป็นแหล่งฟอกเงินส่วนใหญ่ สามารถแยกเป็น ๒ แหล่ง ได้แก่ แหล่งฟอกเงินภายในประเทศและภายนอกประเทศ

                                แหล่งฟอกเงินภายในประเทศ

                     สถาบันการเงินต่างๆ

สถาบันการเงิน ได้แก่ หน่วยงานหรือองค์กรที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินต่างๆ เช่น ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ บริษัทหลักทรัพย์ บรรษัทเงินทุน-อุตสาหกรรม บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย สหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งสถาบันต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น ถูกใช้เป็นแหล่งฟอกเงินที่สำคัญที่สุด ทั้งในระดับภายในประเทศและระดับโลก

                     บ่อนการพนันที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย

แหล่งการพนันส่วนใหญ่เกิดขึ้นมากจากแหล่งที่ไม่สามารถพัฒนาสถานที่นั้น ให้มีความเจริญทางเศรษฐกิจจากทางอื่น หรือเป็นสถานที่เคยมีเศรษฐกิจซบเซา เนื่องจากผู้คนมีความนิยมเปลี่ยนไป ซึ่งแหล่งการพนันจะเป็นที่ฟอกเงินทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย

การค้าขายที่ดิน

                    ที่ดินเป็นสินทรัพย์ที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินได้ ถึงจะช้าแต่มีปริมาณมากและเป็นที่นิยมของสถาบันการเงินในประเทศที่ยังไม่ค่อยพัฒนา เพราะที่ดินเป็นสินทรัพย์ที่จับต้องได้ และไม่สามารถขโมยได้ ซึ่งมีการซื้อขายเปลี่ยนมือกันเป็นจำนวนมากและราคาซื้อขายจะขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้ซื้อและผู้ขายเป็นสำคัญ ดังนั้น วิธีที่ให้ประโยชน์ซึ่งกันและกันโดยการซื้อขายที่ดินในราคามิตรภาพ หรือการให้ค่านายหน้าซื้อขายที่ดินก็เป็นกระบวนการฟอกเงินอย่างหนึ่งเช่นกัน

ตลาดหุ้น

                     เป็นแหล่งที่เงินเปลี่ยนมือได้ง่ายและผู้ลงทุนไม่ค่อยสนใจเกี่ยวกับผู้ซื้อหรือผู้ขาย เพราะหุ้นเป็นตราสารการเงินที่เปลี่ยนมือได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในช่วงที่หุ้นมีการค้าขายมาก สามารถทำการฟอกเงิน โดยการซื้อขายหุ้นได้เป็นจำนวนมหาศาล หรือตลาดหุ้นที่มีลักษณะซื้อขายเก็งกำไรก็จะมีช่องทางให้เกิดการฟอกเงินได้เช่นกัน

สินทรัพย์มีค่าทุกชนิด

 แหล่งฟอกเงินแหล่งนี้ ได้แก่ สังหาริมทรัพย์ที่มีค่า เช่น อัญมณีต่างๆซึ่งจะมีการซื้อขายให้แก่กันในราคาถูก หรือการให้ด้วยสินน้ำใจอันเป็นสาเหตุแห่งการคอรัปชั่นและเป็นแหล่งของการฟอกเงินได้ด้วย

การเปลี่ยนเป็นเงินสกุลอื่นๆ

                     ปัจจุบันมีประเทศที่เปิดเสรีด้านการเงินมากขึ้น ทำให้การควบคุมเปลี่ยนเงินตราเป็นไปอย่างยากลำบาก ส่งผลให้การแลกเงินเพื่อส่งไปยังต่างประเทศทำได้ง่ายขึ้นและมีจำนวนมากกว่าแต่ก่อน ประกอบกับการบริการสมัยใหม่ เช่น การใช้บัตรเครดิตเป็นเงินสด ในอีกประเทศหนึ่งนับเป็นอีกวิธีหนึ่งของการฟอกเงิน

การฟอกเงินโดยให้ผู้อื่นถือสินทรัพย์หรือรับเงินแทน

                     เป็นการมอบสินทรัพย์ให้ผู้ไว้ใจซึ่งมิใช่ญาติพี่น้องดูแลโดยมิได้ทำนิติกรรมใดๆด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจ เมื่อเจ้าของทรัพย์เสียชีวิตลงอย่างกะทันหันและมิได้กระทำการใดๆไว้ล่วงหน้า เงินจำนวนนั้นจะถูกนำมาฟอกให้กลายเป็นเงินที่ถูกต้องเป็นของตนต่อไป

         มาตรการทางกฎหมายในการสกัดกั้นการฟอกเงิน

                   ในที่นี้จะขอเน้นย้ำเฉพาะการลักลอบค้ายาเสพติดซึ่งเป็นแหล่งสำคัญที่ทำเงินรายได้ให้แก่ผู้กระทำความผิดอย่างมหาศาล เป็นแหล่งที่มาของเงินที่กลับย้อนไปสู่การประกอบอาชญากรรมรูปแบบอื่นๆ หรือสร้างเครือข่ายขององค์กรอาชญากรรมให้ขยายกว้างออกไปจนเป็นปัญหาที่ยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น ทั้งนี้โดยใช้วิธีการเปลี่ยนสภาพหรือปกปิดสภาพของเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดให้เป็นเสมือนเงินที่ได้มาโดยถูกต้อง

         ประมวลกฎหมายอาญา

                   ประมวลกฎหมายอาญามีมาตรการทางกฎหมายในการริบทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดทางอาญาซึ่งถือว่าเป็นมาตรการที่มีผลในการปราบปรามการฟอกเงินทางอ้อมอย่างหนึ่ง มีทั้งที่ให้ริบโดยเด็ดขาดซึ่งใช้คำว่า "ให้ริบเสียทั้งสิ้น” และมีทั้งที่บัญญัติให้ริบโดยเด็ดขาด ซึ่งใช้คำว่า “ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบ” บทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญาที่กล่าวถึงความหมายของทรัพย์สินที่อาจถูกศาลริบได้ตามมาตรา 33(2) มิใช่หมายความเฉพาะตัวทรัพย์สินที่ได้โดยตรงมาจากการกระทำความผิดเท่านั้น แต่หมายความรวมถึงกรณีผู้กระทำความผิดได้ทรัพย์มาจากการกระทำความผิดต่างๆ เช่น ฉ้อโกง ยักยอก                 ลักทรัพย์ ปล้นทรัพย์ หรือการค้ายาเสพติด แล้วเอาทรัพย์นั้นไปซื้อบ้าน ซื้อที่ดิน ถือได้ว่าบ้านและที่ดินนั้น เป็นทรัพย์สินที่กระทำความผิดและไม่ว่าจะมีการขายหรือแลกเปลี่ยนทรัพย์สินนั้นไปกี่ครั้ง ทรัพย์สินสุดท้ายก็ยังคงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด รวมถึงสิทธิเรียกร้องที่ผู้กระทำความผิดได้มาจากการใช้ทรัพย์สินดังกล่าวแลกมาโดยมีค่าตอบแทน ซึ่งในการดำเนินคดีนั้นพนักงานอัยการมีอำนาจร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ริบทรัพย์สินนั้นไว้ได้ โดยต้องไม่ช้ากว่าหนึ่งปี นับแต่วันที่ยึดหรืออายัดหรือจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องในคดีที่ต้องหานั้น และถ้าเชื่อได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบทรัพย์สินนั้นได้

         พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534

                             พระราชบัญญัตินี้ สืบเนื่องจากภายหลังจากที่มีพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2519 แล้ว การดำเนินงานเพื่อปราบปรามยาเสพติดก็ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร เนื่องจากวงการค้ายาเสพติดกลับขยายเครือข่ายกว้างขึ้น และเป็นการยากที่จะนำตัวผู้เป็นหัวหน้าใหญ่หรือนายทุนของขบวนการค้ายาเสพติดมาลงโทษได้ เพื่อให้การปราบปรามผู้ซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรการทางกฎหมาย เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถปราบปรามผู้กระทำความผิดตามกฎหมายได้เป็นการเฉพาะ จึงได้มีการตรา “พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534” สาระสำคัญของพระราชบัญญัติฉบับนี้มีหลายประการ เป็นต้นว่า

                   -ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ได้แก่ ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หมายถึง การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติด และให้หมายความรวมถึงการสมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือหรือพยายามกระทำความผิดต่างๆดังกล่าวด้วย (มาตรา 3)

                   -ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ หมายความว่า เงิน หรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และให้หมายความรวมถึงเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาโดยการใช้เงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวหรือกระทำไม่ว่าด้วยประการใดๆให้เงินหรือทรัพย์สินนั้นเปลี่ยนสภาพไปจากเดิม ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนสภาพกี่ครั้ง และไม่ว่าเงินหรือทรัพย์สินนั้นจะอยู่ในความครอบครองของบุคคลอื่น โอนไปเป็นของบุคคลอื่น หรือปรากฏตามหลักฐานทางทะเบียนว่าเป็นของบุคคลอื่นก็ตาม (มาตรา 3)

                   -วิธีการยึดทรัพย์สินตามพระราชบัญญัตินี้ เป็นวิธีการซึ่งเริ่มจากการสืบสวนจากแหล่งที่มาของความผิดไปสู่ตัวทรัพย์สิน กล่าวคือ ต้องมีผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเสียก่อน เช่น ผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก เป็นต้น หลังจากนั้น ถ้ามีเหตุสงสัยว่ามีทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดจึงจะมีการตรวจสอบทรัพย์สิน อันนำไปสู่การริบทรัพย์ในที่สุด ทั้งนี้ หากผู้ต้องหาหรือจำเลยสามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของทรัพย์สินตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายได้แล้ว ก็จะได้ทรัพย์สินดังกล่าวนั้นคืนกลับไป แม้พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มีบทบัญญัติให้ศาลมีอำนาจสั่งริบทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดไม่ว่าจะได้มีการเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินไปกี่ครั้งหรือโอนไปอยู่ในครอบครองของบุคคลอื่นก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้อย่างแท้จริง เนื่องจาก

1)  การริบทรัพย์สินตามพระราชบัญญัตินี้ จะต้องมีการดำเนินคดีอาญาในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเป็นคดีหลักเสียก่อน แล้วจึงจะสามารถดำเนินการในเรื่องการริบทรัพย์สินเป็นคดีอุปกรณ์ได้ หากไม่มีการดำเนินคดีอาญาหรือมีการดำเนินคดีอาญาแล้ว แต่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องหรือในที่สุดศาลสั่งยกฟ้องก็ไม่สามารถดำเนินการริบทรัพย์สินในคดีนั้นได้

2)  การริบทรัพย์สินตามพระราชบัญญัตินี้ เป็นมาตรการริบทรัพย์สินทางอาญา ซึ่งจะต้องเริ่มต้นจากตัวบุคคลผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดแล้วจึงสามารถเชื่อมโยงไปหาตัวทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิด กรณีที่สงสัยว่ามีการฟอกเงินจากการกระทำความผิดโดยไม่ปรากฏตัวบุคคลที่ชัดเจน จึงไม่สามารถดำเนินการกับทรัพย์สินนั้นได้

3)  พระราชบัญญัตินี้ มุ่งบังคับใช้เพื่อการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเท่านั้น กรณีที่มีการฟอกเงินอันเกิดจากการกระทำความผิดอื่นๆ ไม่สามารถนำบทบัญญัติของพระราชบัญญัตินี้ไปใช้บังคับได้

 

พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542

สรุปมูลฐานความผิด ตามพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ดังต่อไปนี้ 

1.   ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหรือกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด

2.   ความผิดเกี่ยวกับเพศตามประมวลกฎหมายอาญา เฉพาะที่เกี่ยวกับการเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปเพื่อการอนาจารหญิงและเด็ก เพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่นและความผิดฐานพรากเด็กและผู้เยาว์ ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก หรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี เฉพาะที่เกี่ยวกับการเป็นธุระจัดหา    ล่อไปหรือชักพาไปเพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณี หรือความผิดเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของกิจการการค้าประเวณี ผู้ดูแลหรือผู้จัดการกิจการค้าประเวณี หรือสถานการค้าประเวณี หรือเป็นผู้ควบคุมผู้กระทำการค้าประเวณีในสถานการค้าประเวณี

3.       ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญาหรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน

4.       ความผิดเกี่ยวกับการยักยอกหรือฉ้อโกงหรือประทุษร้ายต่อทรัพย์หรือกระทำโดยทุจริตตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ หรือกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งกระทำโดย กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบหรือมีประโยชน์เกี่ยวข้องในการดำเนินงานของสถาบันการเงินนั้น

5.       ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น

6.       ความผิดเกี่ยวกับการกรรโชก หรือรีดเอาทรัพย์ที่กระทำโดยอ้างอำนาจอั้งยี่ หรือซ่องโจรตามประมวลกฎหมายอาญา

      7.  ความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร

      8.  ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

9.  ความผิดเกี่ยวกับการพนันตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน เฉพาะความผิดเกี่ยวกับการเป็นผู้จัดให้มีการ   

     เล่นการพนันโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีจำนวนผู้เข้าเล่นหรือเข้าพนันในการเล่นแต่ละครั้งเกินกว่าหนึ่ง   

     ร้อยคน หรือมีวงเงินในการกระทำความผิดรวมกันมีมูลค่าเกินกว่าสิบล้านบาทขึ้นไป

10. ความผิดเกี่ยวกับการเป็นสมาชิกอั้งยี่ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือการมีส่วนร่วมในองค์กร  

     อาชญากรรมที่มีกฎหมายกำหนดเป็นความผิด

     11.  ความผิดเกี่ยวกับการรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา เฉพาะที่เกี่ยวกับการช่วยจำหน่าย ซื้อ รับ

           จำนำ หรือรับไว้ด้วยประการใดซึ่งทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทำความผิดอันมีลักษณะเป็นการค้า

     12.  ความผิดเกี่ยวกับการปลอมหรือการแปลงเงินตรา ดวงตรา แสตมป์ และตั๋วตามประมวลกฎหมายอาญา  

           อันมีลักษณะเป็นการค้า

     13.  ความผิดเกี่ยวกับการค้าตามประมวลกฎหมายอาญาเฉพาะที่เกี่ยวกับการปลอม หรือการละเมิด          

     ทรัพย์สินทางปัญญาของสินค้า หรือความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

     อันมีลักษณะเป็นการค้า

14. ความผิดเกี่ยวกับการปลอมเอกสารสิทธิ บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือหนังสือเดินทางตามประมวลกฎหมาย  

     อาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระหรือเพื่อการค้า

15.  ความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม โดยการใช้ ยึดถือ หรือครอบครองทรัพยากรธรรมชาติหรือกระบวนการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันมีลักษณะเป็นการค้า

16.   ความผิดเกี่ยวกับการประทุษร้ายต่อชีวิตหรือร่างกายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายสาหัสตามประมวล 

      กฎหมายอาญา เพื่อให้ได้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สิน

17.    ความผิดเกี่ยวกับการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญาเฉพาะกรณีเพื่อเรียกหรือ 

 รับผลประโยชน์หรือเพื่อต่อรองให้ได้รับผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง

18. ความผิดเกี่ยวกับการลักทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกงหรือยักยอก ตาม ประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ

19. ความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นโจรสลัดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการกระทำ  อันเป็นโจรสลัด

20. ความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

21. ความผิดเกี่ยวกับอาวุธหรือเครื่องมืออุปกรณ์ของอาวุธที่ใช้หรืออาจนำไปใช้ในการรบหรือการสงคราม

     ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมยุทธภัณฑ์”
นอกจากความผิดมูลฐานทั้ง 21 มูลฐานดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีความผิดมูลฐานตามกฏหมายอื่นอีก 3 ฉบับ รวมเป็น 24 มูลฐาน ดังต่อไปนี้
    1.  พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่ง  

  สมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550   

มาตรา 53  ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่ตนเอง หรือผู้สมัครอื่น หรือพรรคการเมืองใด หรือให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด ด้วยวิธีการต่อไปนี้
(1) จัดทำ ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ แก่ผู้ใด
(2) ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม แก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถาบันการศึกษา สถานสงเคราะห์ หรือสถาบันอื่นใด
(3) ทำการโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่าง ๆ
(4) เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด
(5) หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด 

ความผิดตาม (1) หรือ (2) ให้ถือว่าเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจส่งเรื่องให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ได้
   2.  พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551

มาตรา 14 ให้ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542
  3.  พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ. 2556     

มาตรา 16 ผู้ใดจัดหา รวบรวม หรือดำเนินการทางการเงินหรือทรัพย์สินหรือดำเนินการด้วยประการใด ๆ โดยรู้อยู่แล้วว่าผู้ได้รับประโยชน์ทางการเงินหรือทรัพย์สินหรือจากการดำเนินการนั้นเป็นบุคคลที่ถูกกำหนด หรือโดยเจตนาให้เงินหรือทรัพย์สินหรือการดำเนินการนั้นถูกนำไปใช้เพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมใด ๆ ของบุคคลที่ถูกกำหนดหรือของบุคคลหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายผู้นั้นกระทำความผิดฐานสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้ใดเป็นผู้ใช้หรือผู้สนับสนุน หรือสมคบกันในการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในการกระทำความผิดนั้น
ผู้ใดพยายามกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่ได้กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น 

นิติบุคคลใดกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง วรรคสอง หรือวรรคสามต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงสองล้านบาท 

ในกรณีที่การกระทำความผิดของนิติบุคคลตามวรรคสี่เกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของบุคคลใดหรือไม่สั่งการ หรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำของกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น บุคคลดังกล่าวต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปีหรือปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับให้ความผิดตามมาตรานี้ เป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน  

การดำเนินคดีอาญาตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542

การดำเนินคดีอาญาตามกฎหมายดังกล่าวประกอบด้วย

          การดำเนินคดีอาญาในความผิดมูลฐาน คือ การดำเนินคดีในความผิดทางอาญาที่ระบุไว้เป็นความผิดมูลฐาน  

1.    ในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3

          2. การดำเนินคดีอาญากับผู้ที่ฟอกเงิน หรือ ทรัพย์สิน ที่ได้มาจากการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐาน หรือ จากการสนับสนุน ช่วยเหลือการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐาน กล่าวคือ

   2.1 การโอน รับโอน หรือ เปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อซุกซ่อน หรือ ปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น หรือ เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นไม่ว่า ก่อน ขณะ หรือ หลังการกระทำความผิดมิให้ต้องรับโทษ หรือ รับโทษน้อยลงในความผิดมูลฐาน

   2.2 การกระทำด้วยประการใดๆ เพื่อปกปิด หรือ อำพรางลักษณะที่แท้จริง การได้มา แหล่งที่ตั้ง การจำหน่าย การโอน การได้สิทธิใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด

   2.3 การสนับสนุนการกระทำความผิด หรือ ช่วยเหลือ ผู้กระทำผิดฐานฟอกเงิน ไม่ว่าก่อน หรือ ขณะกระทำความผิด

   2.4 การจัดหา หรือ ให้เงิน หรือ ทรัพย์สิน ยาพาหนะ สถานที่ หรือ วัตถุใดๆ หรือ กระทำการใดๆ เพื่อช่วยให้ผู้กระทำความผิดฐานฟอกเงินหลบหนี หรือ เพื่อมิให้ผู้กระทำความผิดฐานฟอกเงินถูกลงโทษ หรือ เพื่อให้ได้รับประโยชน์ในการกระทำความผิด

   2.5 การพยายามกระทำความผิดฐานฟอกเงิน

   2.6 การสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และมีการกระทำความผิดเกิดขึ้นเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน 

          3. การดำเนินคดีอาญากับสถาบันการเงิน ผู้มีหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด หรือผู้เกี่ยวข้องฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 กำหนดไว้กล่าวคือ

             3.1   การไม่รายงานการทำธุรกรรม

            3.2   การไม่ได้จัดให้ลูกค้าแสดงตนทุกครั้งก่อนการทำธุรกรรม

            3.3   การไม่ได้จัดให้ลูกค้าบันทึกข้อเท็จจริงต่างๆเกี่ยวกับธุรกรรม

            3.4   การไม่เก็บรักษารายละเอียดเกี่ยวกับการแสดงตนของลูกค้า

   3.5   การไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการธุรกรรม

            3.6   การรายงานการทำธุรกรรม หรือแจ้งข้อเท็จจริงกับสถาบันการเงิน โดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดความจริงที่ต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบ

            3.7   การไม่มาให้ถ้อยคำ ไม่ส่งคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือไม่ส่งบัญชี เอกสาร หรือ หลักฐาน หรือขัดขวางไม่ให้ความสะดวกในการปฏิบัติงานตามกฎหมาย

            3.8   การทำให้บุคคลอื่นล่วงรู้ข้อมูลที่เก็บรักษาไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

  3.9   การยักย้าย ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย ทำให้สูญหาย หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสาร หรือบันทึก ข้อมูล หรือ ทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานยึดหรืออายัดไว้

  3.10 การยักย้าย ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย ทำให้สูญหาย หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสาร หรือบันทึก ข้อมูล หรือ ทรัพย์สินที่รู้ หรือควรรู้ว่าจะตกเป็นของแผ่นดินตามกฎหมาย

            3.11 การรู้ หรืออาจรู้ความลับในราชการเกี่ยวกับการดำเนินการตามกฎหมาย กระทำด้วยประการใดๆ ให้ผู้อื่นรู้ หรืออาจรู้ความลับดังกล่าว โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

          พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2557 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2551

พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2557 ได้กำหนดกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมสอบสวน      คดีพิเศษ 36 ฉบับ ในจำนวนนี้มีอยู่ 9 ฉบับ คือ คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นทางการฉ้อโกงประชาชน คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยแร่ คดีความผิดตามกฎหมายค้ามนุษย์ ที่เป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินคดีพิเศษที่เกี่ยวกับคดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการผอกเงินที่มีความผิด      มูลฐานเป็นคดีพิเศษ ดังนี้

          1.ความผิดเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน

          2.ความผิดเกี่ยวกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

          3.ความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ

          4.ความผิดเกี่ยวกับศุลากร

          5.ความผิดเกี่ยวกับลิขสิทธิ์

6.ความผิดเกี่ยวกับสิทธิบัตร

7.ความผิดเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า

8.ความผิดเกี่ยวกับเกี่ยวกับแร่

9.ความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์

          ซึ่งที่ผ่านมาถึงแม้คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินจะเป็นความผิดตามบัญชีท้าย ลำดับที่ 16 ของพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ แต่กรมสอบสวนคดีพิเศษไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบคดีความตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯโดยตรง กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงได้มีประกาศลงวันที่ 19 มิถุนายน 2557และประกาศลงวันที่ 23 กันยายน 2557 กำหนดให้สำนักคดีอาญาพิเศษ 3 รับผิดชอบคดีตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินที่มีความผิดมูลฐานเป็นคดีพิเศษทั้ง 9  ฉบับ

          นอกจากนี้  กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยสำนักคดีอาญาพิเศษ 3 ได้ปฏิบัติภารกิจที่สอดคล้องกับกฎหมาย นโยบายรัฐบาล และนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และกรมสอบสวนคดีพิเศษ อาทิ การดำเนินงานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึง ฉบับที่ 4 พ.ศ.2556 และ 46/1 แก้ไขเพิ่มเติมถึง ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2556

มาตรา 46/1 บัญญัติว่ากรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรวบรวมพยานหลักฐาน สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินร้องขอให้กรมสวบสวนคดีพิเศษใช้อำนาจสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานตามกฎหมายว่าด้วยการสวบสวนคดีพิเศษ เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด เพื่อดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิดให้กรมสอบสวนคดีพิเศษมีอำนาจดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เพื่อสนับสนุนการดำเนินการของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

          และระเบียบว่าด้วยการประสานการปฏิบัติการตามกฎหมาย ว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามกฎหมาย ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2556 ซึ่งออกตามความในมาตรา 46/1 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ ได้กำหนดขั้นตอนการปฏิบัติในกรณีที่เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินจะส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินคดีอาญาฐานฟอกเงินต่อผู้กระทำผิด

          การป้องกันและปราบปรามยาเสพติด แผนงานการปราบปรามยาเสพติด เร่งรัดปราบปรามยาเสพติดในเรือนจำโดยการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปราบปรามเครือข่ายผู้ค้ายาเสพติดรายสำคัญด้วยการสืบสวนทางการเงินและขยายผลนำไปสู่การจับกุม และดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดอย่างเข้มงวด การปราบปรามยาเสพติดในเรือนจำ โดยการปราบปรามผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ถูกคุมขังคดียาเสพติดในเรือนจำ โดยใช้มาตรการฟอกเงิน การปราบปรามเครือข่ายการค้ารายสำคัญด้านสืบสวนทางการเงินและขยายผล โดยการ  บูรณาการความร่วมมือด้านการปราบปรามยาเสพติดกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ต่อไป

 

-------------------------------------------------