ข้อควรปฏิบัติในการป้องกันไวรัส

เผยแพร่: 26 มิ.ย. 2557 14:06 น. ปรับรุง: 26 มิ.ย. 2557 14:06 น. เปิดอ่าน 2546 ครั้ง  
 

ข้อควรปฏิบัติในการป้องกันไวรัส

 

ผู้จัดทำ นายประสงค์  แป้นเถาว์
ตำแหน่ง เจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์

 

1.      ตรวจสอบ E-mail ทุกฉบับที่ส่งเข้ามา ว่ามาจากบุคคลที่รู้จักหรือไม่ ข้อมูลต้นทาง และปลายทางของ E-mail ถูกต้องมีหัวข้อเรื่องที่ติดต่อชัดเจน (หากไม่แน่ใจให้สงสัยไว้ก่อน)

2.      หากมีไฟล์แนบมากับ e-mail จะต้องทำการ SCAN ตรวจหาไวรัสก่อนการใช้งานทุกครั้ง

   เอกสาร Word Excel อาจมีไวรัสประเภท Macro Virus แฝงมาได้

   ไฟล์จำพวก . COM, .EXE, ZIP หรืออื่นๆ อาจมีไวรัสประเภท Worm, Trojan หรืออื่นๆได้ ระวังไฟล์ Happyxxx.COM, .EXE, PICS4YOU.EXE หรืออื่นๆที่สงสัย

3.      ตรวจสอบทุกครั้งเมื่อมีการนำเอาไฟล์ข้อมูล โปรแกรมต่างๆ จากเครื่องอื่น หรือแหล่งอื่นมาใช้งาน (การโหลดโปรแกรมจากอินเตอร์เน็ต, การแชร์ดิสก์, การแลกเปลี่ยนข้อมูลข้ามเครื่อง ข้ามฝ่าย)

4.      Update Virus Definition อยู่เสมอ (ระยะนี้ควรทำทุกสัปดาห์)

5.      สำรองข้อมูลตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ระบบคอมพิวเตอร์อย่างเคร่งครัด

อาการที่น่าสงสัย

1.      เมื่อมีการบู๊ตระบบแล้วระบบไม่สามารถบู๊ตได้ตามปกติ มีข้อความเตือนเช่น "CMOS Check sum Error" (ข้อความเตือนนี้ สามารถเกิดได้จากเหตุอื่นด้วยเช่น Battery หมด)

2.      เปิดเครื่องแล้วจอมืดเป็นเวลานาน (รีเซ็ทแล้วก็ไม่ทำงาน)

3.      เมื่อมีการบู๊ตและเข้าสู่ระบบ ระหว่างที่รอวินโดว์ปรากฏข้อความที่ไม่คุ้นเคยปรากฏขึ้นมา

4.      ไฟล์ Autoexec.bat ถูกแก้ไขใหม่

 

การป้องกันไวรัสในองค์กร

ไวรัสคอมพิวเตอร์ หลายๆท่านคงจะทราบดีว่า มหันตภัยร้ายจากไวรัสคอมพิวเตอร์ ต่างๆก่อให้เกิดความเสียหาย ความวุ่นวายในการทำงานได้อย่างไรบ้าง ซึ่งหลายคนก็ตระหนักดีว่ามันมีความร้ายกาจขนาดไหน หรือบางท่านอาจประสบ มาด้วยตัวเองบ้างแล้วก็เป็นได้ หรืออาจเคยได้ยินได้ฟังมาบ้าง บางท่านอาจมีความเข้าใจผิดๆ ทำให้เกิดความกลัวจนเกินเหตุแล้วมาตรการสำหรับการป้องกัน ควรจะเป็นหน้าที่ของใคร ? ผู้ดูแลระบบของเรา หรือผู้ใช้เครื่องที่ต้องดูแลกันเอง แล้วจะเลือกวิธีการใดในการป้องกัน จะใช้ระบบที่เป็นฮาร์ดแวร์ หรือระบบที่ เป็นซอฟต์แวร์ แบบใดให้ความน่าเชื่อถือในการทำงานมากกว่า ก่อนที่เราจะศึกษากันถึงวิธีการในการป้องกัน เราต้องมาทำการศึกษากันถึงพฤติกรรม และลักษณะการทำงานของไวรัส เพื่อให้เข้าใจถึงการทำงานของไวรัส สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และศึกษาว่าไวรัสมีอยู่กี่กลุ่มกี่ประเภท มีกี่สายพันธุ์ หลังจากนั้นเราจึงมาศึกษาเพื่อหาวิธีป้องกันระบบให้ปลอดภัยจากไวรัสคอมพิวเตอร์

กลุ่มของไวรัส

กลุ่มของไวรัสมีการจัดแบ่งกลุ่มออกได้เป็นหลายกลุ่ม และกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจเป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นใหม่ ได้แก่กลุ่มของไวรัสที่เรียกว่า "มาโคร ไวรัส" ซึ่งจะทำงานและแพร่กระจายไปกับไฟล์ข้อมูลประเภทเอกสารต่างๆ ถูกค้นพบครั้งแรกในไฟล์เอกสารของโปรแกรมไมโครซอฟท์เวิร์ด และต่อมาพบในเอ็กเซล และเพาเวอร์พ้อยท์ด้วย ซึ่งปัจจุบันโปรแกรมสำหรับตรวจสอบและค้นหาไวรัส หลายๆตัว สามารถที่จะทำงานกับไฟล์เอกสารที่มีส่วนขยายเช่น .DOT ,.DOC เหล่านี้ได้ และ ปัจจุบันมีการจัดกลุ่มของไวรัสตามลักษณะการทำงานได้ดังนี้

  • Common Viruses : เป็นไวรัสทั่วๆไปไม่หวังผลในการทำลาย เน้นการทำให้เกิดความกลัวและสร้างความรำคาญง่ายต่อการตรวจสอบและกำจัด
  • Program Viruses : ไวรัสที่สามารถแพร่กระจายได้เมื่อมีการเรียกใช้โปรแกรมที่มีไวรัสอยู่ให้ทำงาน และจะกระจายไปสู่โปรแกรมอื่นอย่างรวดเร็ว
  • Boot Viruses : ไวรัสทีสามารถแฝงตัวเอง และแพร่กระจายในส่วนพื้นที่เฉพาะของดิสก์ หรือฮาร์ดดิสก์ คือในส่วนของ Boot Record หรือ Master Boot Record เช่น ไวรัส Stone เป็นต้น
  • Stealth Viruses : ไวรัสที่มีความสามารถในการหลบซ่อนปิดบังซ่อนเร้นตัวเองจากการตรวจสอบได้ ทำให้ยากแก่การตรวจสอบ และกำจัด
  • Polymorphic Viruses : เป็นไวรัสที่มีลักษณะการทำงานหลายรูปแบบในตัวเอง มีรูปแบบที่แตกต่างกันในการแพร่กระจายแต่ละครั้ง ทำให้ยากแก่การตรวจจับ
  • Multipartite Viruses : ไวรัสแบบผสม ที่รวมเอาการทำงานของไวรัสหลายๆแบบไว้ด้วยกัน สามารถแพร่กระจายได้ทั้งในไฟล์ และโปรแกรม
  • Macro Viruses : มาโครไวรัส เป็นไวรัสที่เกิดขึ้นใหม่ โดยถูกสร้างขึ้นมาจากภาษามาโครของเวิร์ด (คือ Word Basics) และจะแพร่กระจายกับไฟล์เอกสารของเวิร์ด เอ็กเซลล์ หรือ เพาเวอร์พ้อยท์ เช่น ไวรัสที่ชื่อ WM.CAP เป็นต้น
     

ไวรัสสามารถสร้างความเสียหายได้ในระดับใด

 

ไวรัสคอมพิวเตอร์สามารถติดไปกับโปรแกรมต่างๆที่สามารถทำงานได้ เช่นเวิร์ดโปรแซส
ซิ่ง สเปรตชีต หรือ โปรแกรมระบบปฏิบัติการ ไวรัส สามารถติดไปกับส่วนต่างๆ ของดิสก์ หรือส่วนที่เฉพาะเจาะจงของระบบดิสก์ได้ เช่น Boot Record ได้ซึ่งมันจะถูกเรียกให้ทำงานทันทีที่มีการนำแผ่นดิสก์ที่มีไวรัสไปใช้งาน หรือมีการบูตระบบให้ทำงาน และจะเริ่มกระบวนการแพร่กระจาย แต่ไวรัสคอมพิวเตอร์ จะไม่สามารถสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นกับระบบที่เป็นฮาร์ดแวร์ได้ เช่นจอภาพ หรือคีย์บอร์ด แต่บางครั้งการทำงานของไวรัสทำให้เราเข้าใจผิดพลาด ว่าระบบฮาร์ดแวร์มีปัญหา ที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่าไวรัสเข้าไปทำการควบคุมโปรแกรมที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของจอภาพ และคีย์บอร์ด เช่นการทำให้เกิดตัวอักษรแปลกๆ หรือตัวอักษรร่วงหล่นจากจอภาพ และไวรัสจะไม่สามารถทำให้ดิสก์เสียหายได้ เพียงแต่จะอาศัยอยู่ในดิสก์เท่านั้น และยังสามารถติดกับไฟล์ได้หลายๆประเภทและมันจะทำให้เกิดความผิดพลาดในการทำงานกับโปรแกรมหรือข้อมูลนั้นๆ เท่านั้น

 

มาตรการการป้องกัน

 

ในการป้องกันไวรัสไม่ให้สร้างความเสียหายให้แก่ระบบ ควรจะเลือกใช้วิธีใดในการป้องกันการเลือกใช้ ฮาร์ดแวร์ หรือซอฟต์แวร์ อย่างไหนมีประสิทธิภาพในการป้องกันมากกว่ากัน ซึ่งควรจะมาทำการ พิจารณากันว่า ในองค์กรควรจะเลือกวิธีการใด ในการป้องกันองค์กรให้ปลอดภัยจากไวรัส

เลือกใช้ฮาร์ดแวร์ หากมีการเลือกใช้ฮาร์ดแวร์ในการป้องกันไวรัส แน่นอนที่สุดหากมีการใช้ฮาร์ดแวร์ก็ต้องมีการใช้การ์ดที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ และป้องกัน ที่สำคัญที่สุดนอกจากการทำงานของการ์ดแล้ว การที่การ์ดจะรู้จักไวรัสตัวใหม่ๆ การวิเคราะห์โปรแกรมต้องสงสัย และการ์ดให้ความคุ้มครองได้ในระดับไหน แล้วความเข้ากันได้กับระบบฮาร์ดแวร์ของระบบคอมพิวเตอร์ และระบบปฏิบัติการ หรือโปรแกรมที่ใช้งานมีการสนับสนุนการทำงานที่เพียงพอหรือไม่ เช่นการซัพพอร์ททางด้านเทคนิค การให้ข้อมูลข่าวสารใหม่ๆของไวรัส การอัพเกรดความสามารถของการ์ด ราคาของการ์ดที่จะนำมาใช้ เหมาะสมกับความสามารถของการ์ดหรือไม่ ถ้ามองถึงในด้านการทำงานแล้วอุปกรณ์ที่เป็นฮาร์ดแวร์ และทำงานในลักษณะที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย มักจะมีโปรแกรมควบคุม และจัดการ การทำงานมาด้วยเสมอ ก็คือโปรแกรมไดรเวอร์ และต้องมีโปรแกรมทำงาน โปรแกรมช่วยเหลือ โปรแกรมยูทิลิตี้ ซึ่งยังคงเป็นการใช้ซอฟต์แวร์ควบคุมการทำงานของฮาร์ดแวร์อยู่ดี แล้วการเลือกใช้ซอฟต์แวร์เพื่อป้องกันไวรัสที่มีอยู่ในปัจจุบันมีความปลอดภัยในระดับไหน ความน่าเชื่อถือเป็นอย่างไร ซึ่งโปรแกรมประเภทที่ว่าในปัจจุบันมีหลายรูปแบบให้เลือกใช้เพื่อความเหมาะสมขององค์กรหรือหน่วยงานขนาดต่างๆ และเหมาะสมกับระบบปฏิบัติการหลายๆแบบให้เลือกใช้ ความเข้ากันได้ของการทำงานมีสูงกว่าระบบฮาร์ดแวร์ แล้วจะเลือกใช้ตัวไหนดี สำหรับโปรแกรมป้องกันไวรัสที่โดดเด่น และรู้จักกันอย่างแพร่หลายในหมู่นักเล่นคอมพิวเตอร์ เช่น โปรแกรมที่ชื่อ SCAN จากค่าย McAfee สแกนมีความสามารถในการตรวจสอบไฟล์ข้อมูลประเภทต่างๆ และตัวโปรแกรมมีขนาดเล็ก การทำงานมีทั้งการทำงานตามปกติ การตรวจจับลักษณะการทำงานของไฟล์ต้องสงสัย การทำงานในหลายได้ในหลายระบบปฏิบัติการเช่น Dos Windows 3.X Window95 Window NT และความสามารถในการตรวจสอบไฟล์ที่มาจากระบบเน็ตเวิร์ค หรืออินเตอร์เน็ต ที่เรียกว่า WebScan การอัพเดตฐานข้อมูลของไวรัส (Virus Signature) และการรู้จักไวรัสตัวใหม่ๆ ซึ่งตรงนี้อาจเป็นจุดอ่อนของโปรแกรมตัวนี้ก็ได้เพราะมีการเปลี่ยนแปลงรุ่นของโปรแกรมที่เร็วมาก และการอัพเดตฐานข้อมูล ผู้ใช้ต้องดำเนินการดาวน์โหลดโปรแกรมรุ่นใหม่และทำการติดตั้งเองทั้งหมด ซึ่งถ้าผู้ใช้แต่ละคนไม่หมั่นทำการอัพเดตซึ่งปกติจะทำเดือนละครั้งก็จะเป็นจุดที่ไวรัสจะเข้าโจมตีได้เช่นกัน

 

โปรแกรมตัวต่อไปที่นิยมไม่แพ้กัน และมีชื่อเสียงคุ้นเคยกันมานานก็คือโปรแกรมตระกูล Norton Anti Virus จากค่าย Symantec โปรแกรมตัวนี้มีจุดเด่นที่เป็นจุดเข็ง และเป็นหัวใจในการทำงานหลายประการเช่น การจัดการกระบวนการทำงานในรูปแบบอัตโนมัติ การค้นหาไวรัสตามเวลาที่ได้ตั้งเอาไว้ การอัพเดตฐานข้อมูลไวรัสที่สามารถทำได้โดยอัตโนมัติด้วยการคลิกเม้าท์เพียงปุ่มเดียว โปรแกรมจะทำการติดต่อกับเครื่อง Server ของบริษัทเพื่อทำการอัพเดตข้อมูลให้ เรียกว่าการทำ "Live - Up-date" ซึ่งผู้ใช้ไม่ต้องทำการดาวน์โหลดข้อมูลด้วยตัวเองและรอการทำงานจนเสร็จ และติดตั้งโปรแกรมอีกครั้งหนึ่ง การทำ Live - Up-date สามารถทำได้ตลอดเวลาเช่นตอนเที่ยงก่อนทานข้าวก็ทำเอาไว้โปรแกรมจะทำการติดตั้งโดยอัตโนมัติ เมื่อกลับจากทานข้าวก็ทำการ บูตระบบ ให้โปรแกรมฐานข้อมูลไวรัสตัวใหม่ทำงานก็เสร็จกระบวนการ ซึ่งฐานข้อมูลจะมีการปรับปรุงทุกๆ 15 -30 วัน นอกจากนี้การตรวจจับไฟล์ที่ต้องสงสัย การทำงานหลังฉากก็มีประสิทธิภาพในการทำงานสูง การแจ้งเตือนทำได้ชัดเจน รวดเร็ว มีข้อเสียคือโปรแกรมตรวจจับมีขนาดในหน่วยความจำที่ค่อนข้างใหญ่สำหรับเครื่องที่หน่วยความจำน้อย

 

นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมที่เราไม่ค่อยรู้จักได้แก่ Dr.Solomon's PC-Cillin Cheyenen เป็นต้น สำหรับหน่วยงานหรือองค์กรขนาดใหญ่ที่มีระบบ Server ใช้งาน โปรแกรมสำหรับระบบที่ว่านี้โปรแกรมที่น่าสนใจก็มี Cheyenne Inoculan ซึ่งเหมาะกับการทำงานกับระบบเน็ตเวิร์คที่เป็น Windows NT และ Windows Client มีความสามารถตรวจจับไวรัสที่ติดมากับจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ได้และมีการจัดการที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของระบบที่ค่อนข้างดี เช่นการที่อนุญาติให้ผู้ดูแลระบบสามารถที่จะตรวจสอบเครื่องที่ต้องสงสัยว่ามีไวรัสที่อยู่ภายในระบบได้ อีกโปรแกรมที่น่าสนใจสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ก็คือ LDVP 5.0 หรือ LanDesk Virus Protect ของบริษัทอินเทลซึ่งมีความสามารถในการทำงานที่ไม่ขึ้นกับระบบปฏิบัติการ มีการจัดการที่ดีและจะมีความสามารถสูงขึ้นหากมีการทำงานร่วมกับโปรแกรมจัดการระบบ ที่ชื่อ LanDesk Manager จากบริษัทเดียวกัน

 

 

ผู้จัดทำ นายประสงค์  แป้นเถาว์

ตำแหน่ง เจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์