ดีเอสไอ แถลงข่าวการจับกุมขบวนการค้ามนุษย์บังคับใช้แรงงานในเรือประมง

เผยแพร่: 20 ม.ค. 2558 17:08 น. ปรับรุง: 20 ม.ค. 2558 17:08 น. เปิดอ่าน 1442 ครั้ง  
 

 

แถลงข่าวการจับกุมผู้ต้องหากระทำความผิดฐานค้ามนุษย์

โดยมีพฤติการณ์หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญคนไทยไปทำงานในเรือประมงในน่านน้ำต่างประเทศ

 

 

 

          วันอังคารที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๔.๐๐ น. นางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วย พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ  พ.ต.ท.ไพศิษฎ์ สังคหะพงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ และโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แถลงข่าวการจับกุมขบวนการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ โดยมีพฤติการณ์ หลอกลวงและบังคับคนไทยไปทำงานในเรือประมงในน่านน้ำต่างประเทศ ณ ห้องประชุม ๑ ชั้น ๑ อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ

 

 

 

 

 

          จากกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวจากสื่อสารมวลชนและจากองค์กรภาคเอกชน (NGO) ว่ามีคนไทยจำนวนมากถูกหลอกลวงและถูกบังคับใช้แรงงานเป็นลูกเรือประมงทำงานในเรือประมงไทยในน่านน้ำของประเทศอินโดนีเซีย นอกจากนี้ยังพบว่าลูกเรือประมงของไทยดังกล่าวหลายคน ทนสภาพการบังคับใช้แรงงานไม่ไหวจนต้องหลบหนีจากเรือประมงไปหลบซ่อน พำนักอยู่บนเกาะอำบน ประเทศอินโดนีเซีย ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้ ซึ่งเหตุดังกล่าวมีลักษณะการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ นั้น

 

          เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๕๗  กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับการช่วยเหลือแรงงานประมงไทยที่ถูกหลอกลวงถูกบังคับให้ไปทำงานในเรือประมงที่ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีพลตำรวจเอกชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ในขณะนั้น) เข้าร่วมประชุมด้วย ได้พิจารณาแล้วเห็นว่ากรณีดังกล่าว มีพฤติการณ์การกระทำความผิดที่เข้าข่ายเป็นคดีพิเศษ เนื่องจากมีลักษณะเป็นการกระทำความผิดข้ามชาติที่สำคัญ จึงเสนอต่อที่ประชุมขอรับกรณีนี้เป็นคดีพิเศษ และเพื่อให้การทำงานเป็นไปในลักษณะบูรณาการ ที่ประชุมจึงได้ขอให้เจ้าพนักงานตำรวจจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ เข้าร่วมทำงานกับคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ในคดีนี้ด้วย

 

          เนื่องจากคดีนี้มีการกระทำความผิดส่วนหนึ่งนอกราชอาณาจักร  นางสุวณา  สุวรรณจูฑะ  อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดพิจารณาสั่งการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒๐ ซึ่งต่อมาอัยการสูงสุดได้มอบหมายให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีนี้ และมอบหมายให้พนักงานอัยการมาร่วมทำการสอบสวนด้วย

 

          คดีพิเศษนี้ อยู่ระหว่างการสอบสวนโดยศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ รวมทั้งสิ้น ๔ คดี มีผู้เสียหายรวม ๘ คน (เนื่องจากเป็นคดีที่มีผู้เสียหาย ผู้กระทำความผิดและวันเวลาของการกระทำความผิดต่างกัน) จากการสอบสวนพบว่ารูปแบบลักษณะของการกระทำความผิดจะมีกลุ่มแก๊งบุคคลที่จะดักรอหาเหยื่อตามสถานที่สาธารณะต่าง ๆ เช่น บริเวณสถานีรถไฟ สถานีรถประจำทาง โดยมุ่งไปที่กลุ่มบุคคลที่มาจากต่างจังหวัด และกำลังมองหางานทำ โดยจะเข้าไปตีสนิทพูดคุย ชักชวน หลอกว่าจะให้ไปทำงานที่มีรายได้ดีในสถานที่และโรงงานต่าง ๆ และแม้บางรายจะอ้างว่าให้ไปทำงานในเรือประมงก็จะหลอกว่าจะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ รายได้ดี เป็นต้น เมื่อบุคคล ที่ถูกหลอกลวงหลงเชื่อก็จะนำตัวบุคคลเหล่านั้นไปควบคุมตัวไว้ตามที่พักอาศัยในเขตจังหวัดชายทะเลก่อนจะนำตัวไปส่งลงเรือประมงต่อไป บางรายมีการไปหลอกลวงผู้เสียหายจากหมู่บ้านในต่างจังหวัดทางภาคอีสาน จัดทำเอกสารคนประจำเรือปลอม (Seaman Book) และนำตัวส่งไปทำงานในเรือประมงโดยเป็นการเดินทางไปทำงานในเรือประมงนอกน่านน้ำของประเทศไทย ซึ่งต้องทำงานเป็นระยะเวลาหลายปี ไม่สามารถเดินทางกลับบ้านได้ รายได้ก็ได้รับเพียงเล็กน้อย และมีการบังคับขู่เข็ญ ทำร้ายร่างกายขณะทำงานอยู่ในเรือประมงด้วย ผู้เสียหายมีทั้งที่เป็นผู้ใหญ่และเป็นเด็กอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี

 

          คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษและพนักงานอัยการร่วมสอบสวนได้ร่วมกันสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน และขออนุมัติศาลอาญาออกหมายจับผู้ต้องหากลุ่มแรก ๓ คน ในข้อหากระทำผิดฐานค้ามนุษย์ ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้ผู้อื่นปราศจากอิสรภาพ

 

          โดยเมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๕๘ เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้เข้าจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญาดังกล่าวได้ ๒ คน ได้ที่จังหวัดสมุทรสาคร คือ

                    ๑)  นายมนตรี หรือ ตึ๋ง มัคผล อายุ ๕๓ ปี มีพฤติการณ์เป็นนายหน้าบังคับ หลอกลวงจัดหาคนไปทำงานในเรือประมงในเขตจังหวัดสมุทรสาคร

                    ๒)  นายภมร หรือ หนู จันทร์โต อายุ ๕๒ ปี เป็นไต้ก๋งหรือกัปตันเรือประมง ซึ่งผู้เสียหายในคดีถูกบังคับให้ทำงานบนเรือ

                    ๓)  ผู้ต้องหาตามหมายจับรายที่ ๓ (ขอปกปิดชื่อ) อยู่ระหว่างการติดตามจับกุมตัวคาดว่าอยู่ในต่างประเทศ

 

          การเข้าตรวจค้นจับกุมดังกล่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษได้สนธิกำลังกับหน่วยงาน     ที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สถาบันนิติวิทยาศาสตร์       เพื่อประโยชน์ในการรวบรวมพยานหลักฐานและขยายผลการสอบสวนติดตามยึดทรัพย์สินผู้กระทำความผิด

 

          เนื่องจากคดีพิเศษนี้เป็นคดีสำคัญอยู่ในความสนใจของประชาชนสื่อมวลชน และหน่วยงานต่างประเทศ รัฐบาลได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง โดยในส่วนของกระทรวงยุติธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษรับผิดชอบในการบังคับใช้กฎหมายและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด นางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงได้มอบหมายให้ศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์เร่งรัดดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดทั้งขบวนการในทุกคดี ที่รับผิดชอบ และคาดว่าจะมีการขออนุมัติศาลออกหมายจับผู้กระทำความผิดเพิ่มเติมอีกในเร็ว ๆ นี้

 

 

 

 

ข่าวล่าสุด

ข่าวที่น่าสนใจ