ดีเอสไอร่วมกับสำนักงานอัยการสูงสุดนำตัวเณรคำกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย
เผยแพร่: 20 ก.ค. 2560 9:37 น. ปรับรุง: 20 ก.ค. 2560 9:37 น. เปิดอ่าน 2719 ครั้ง
กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินคดีกับพระวิรพล ฉัตติโก (หลวงปู่เณรคำ) หรือ นายวิรพล สุขผล อดีตประธานสงฆ์สำนักสงฆ์วัดป่าขันติธรรม อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อ พ.ศ. 2556 ในความผิดฐาน (1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จฯ (2) ฉ้อโกงประชาชน และ (3) ฟอกเงิน เป็นคดีพิเศษที่ 151/2556 และจากการสอบสวนยังพบว่า พระวิรพล ฉัตติโก (หลวงปู่เณรคำ) หรือ นายวิรพล สุขผล ได้กระทำความผิดในความผิดฐาน (4) กระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม (5) กระทำอนาจารเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม และ (6) ปราศจากเหตุอันสมควรพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดา มารดา ผู้ปกครอง ผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร จึงแยกสำนวนเป็นคดีพิเศษที่ 186/2556
พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ร้องขอต่อศาลเพื่อขอหมายจับพระวิรพล ฉัตติโก (หลวงปู่เณรคำ) หรือ นายวิรพล สุขผล ผู้ต้องหา โดยศาลอาญาได้ออกหมายจับศาลอาญา ที่ 1245/2556 ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2556 และหมายจับศาลอาญาที่ 1013/2557 ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2557 ตามลำดับ
ต่อมาผู้ต้องหาได้หลบหนีไปพำนักยังประเทศสหรัฐอเมริกา คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจึงทำการประสานงานกับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเพื่อพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริง และทำการประสานไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดในฐานะผู้ประสานงานกลางเพื่อดำเนินการร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน
คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ประกอบด้วย พันตำรวจโท ถิรพล พิณเมืองงาม ผู้บัญชาการสำนักคดีความมั่นคง และคณะ พันตำรวจโท ไพศิษฎ์ สังคหะพงศ์ ผู้บัญชาการสำนักกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ และคณะ และเจ้าหน้าที่จากสำนักปฏิบัติการพิเศษ ซึ่งได้รับมอบหมายจาก พันตำรวจตรี จตุพล บงกชมาศ ผู้บัญชาการสำนักปฏิบัติการพิเศษ ได้เดินทางร่วมกับคณะอัยการฝ่ายต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด โดย นางอินทรานี สุมาวงศ์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานอัยการฝ่ายต่างประเทศ ไปรับตัวผู้ต้องหาตามหมายจับ ณ กรุงลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะเดินทางกลับมาถึงประเทศไทยโดยสายการบินไทย ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2560
เรื่องนี้ถือเป็นความสำเร็จในการปฏิบัติงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ระหว่างกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ สำนักงานอัยการฝ่ายต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด และเจ้าหน้าที่ของประเทศสหรัฐอเมริกา มีการบังคับใช้กฎหมายจนทำให้สามารถนำตัวผู้กระทำผิดกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551