ดีเอสไอแถลงผลตรวจสอบการครอบครองรถยนต์คลาสสิคของสมเด็จช่วง

เผยแพร่: 18 ก.พ. 2559 13:12 น. ปรับรุง: 18 ก.พ. 2559 13:12 น. เปิดอ่าน 1513 ครั้ง  
 

 

“DSI แถลงผลการสืบสวนการนำเข้ารถยนต์ Mercedes-Benz”

 

 

          วันพฤหัสบดีที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙  เวลา ๐๙.๓๐ น. พันตำรวจเอก ไพสิฐ  วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ แถลงผลการตรวจสอบรถเบนซ์ ทะเบียน ขม99 ที่มีชื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (สมเด็จช่วง) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ เป็นผู้ครอบครอง ณ ห้องประชุม ๑ ชั้น ๑ อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ

 

 

 

 

               ตามที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับกรณีมีผู้ยื่นขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ตรวจสอบเกี่ยวกับรถยนต์เมอร์ซิเดส เบนซ์ ทะเบียน ขม 0099 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นรถจดประกอบที่อยู่ในความครอบครองของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ และเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช รวมทั้งเป็นประธานมหาเถรสมาคม ว่าเป็นรถที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ นั้น

กรณีดังกล่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษรับไว้ทำการสืบสวน ปรากฏข้อเท็จจริงโดยสรุปว่า รถคันดังกล่าวเป็นรถยนต์ ยี่ห้อ Mercedes-Benz รุ่น 300 บี ชนิดสี่ประตู ผลิตโดยประเทศเยอรมัน เมื่อปี ค.ศ.1953 ความจุกระบอกสูบ 2996 ซีซี เชื้อเพลิงแก็ส หมายเลขตัวรถ 18601400420/53 หมายเลขเครื่องยนต์ 1869204500552 ปัจจุบันจอดอยู่ชั้นล่างของพระมหาเจดีย์ ภายในวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ซึ่งจัดเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน หลักฐานทางทะเบียนของกรมการขนส่งทางบกระบุว่า รถจดทะเบียนเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2554 มีชื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง สุดประเสริฐ) เป็นผู้ครอบครองลำดับที่ 1 (มีลำดับเดียว) โดยประกอบขึ้นจากชิ้นส่วนรถเก่า มีการเสียภาษีสรรพสามิตรถยนต์ตามใบเสร็จรับเงิน สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่กรุงเทพฯ 1 เลขที่ C10010054/0003562 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 โดยใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) หมายเลขถัง 002290 วิศวกรผู้รับรองคือนายศุภารมย์ ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2554 หมดอายุ 15 สิงหาคม 2559 ต่อมาวันที่ 1 สิงหาคม 2556 ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนให้สลับหมายเลขทะเบียน ขม 0099 เป็น งค 1560 กรุงเทพมหานคร และได้แจ้งหยุดการใช้รถตลอดไปในวันเดียวกัน

จากการสืบสวนของ DSI ในประเด็นเกี่ยวกับการจดประกอบรถดังกล่าว พบว่าเป็นรถรุ่น   เอสคลาส ที่มีการผลิตจำนวนน้อย ในการดำเนินการมี 4 ขั้นตอนด้วยกัน คือ (1) การนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์   (2) การประกอบชิ้นส่วนขึ้นเป็นรถสมบูรณ์ (3) การชำระภาษีสรรพสามิต และ (4) การจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก พบข้อเท็จจริงโดยสรุปดังนี้

(1) ขั้นตอนการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ พบหลักฐานว่า หจก. อ๊อด 89 เอ็นเตอร์ไพร์ส เป็นตัวการส่งเครื่องยนต์และตัวถังรถยนต์จากประเทศสหรัฐอเมริกาเข้ามายังประเทศไทยผ่านผู้บริการผู้ส่ง (Shipper) รายเดียวกัน คือ ILS, INC. โดยส่วนของโครงตัวถังรถยนต์ มาโดยเรือ VAN HARMONY เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2553 มีชื่อ หจก.ซี.ที. ออโตพาร์ท เป็นผู้นำสินค้าเข้า ส่วนเครื่องยนต์ มาโดยเรือ NYK ARGUS เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2553 มีชื่อบริษัทคาร์โก้ คาร์ จำกัด เป็นผู้นำสินค้าเข้า มีระยะเวลาห่างกันเพียงสองวัน หลังจากนั้นบริษัท อ๊อด 89 ฯ จึงให้ตัวแทนไปดำเนินการรับสิ่งของจากผู้นำเข้าทั้งสองราย แต่อุปกรณ์ส่วนควบอื่น ๆ เช่น ฝากระโปรงหน้า-หน้า ไฟหน้า-หลัง ไฟเลี้ยว เบาะ ประตู กันชนหน้า-ท้าย ไม่พบหลักฐานการนำเข้าแต่พบหลักฐานว่าซื้อจาก หจก.สายชลมอเตอร์ ซึ่งจากการตรวจสอบบ้านเลขที่ไม่ปรากฏในสาระบบทะเบียนราษฎร์ สถานที่ประกอบการไม่มีจริง และ หจก. ดังกล่าวก็ไม่มีในสาระบบของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีไม่มีในสาระบบของกรมสรรพากร จึงเป็นการทำเอกสารปลอมเพื่อให้เข้าใจว่าอุปกรณ์ ส่วนควบมีที่มาจากการซื้อภายในประเทศ

ในขั้นตอนนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษเห็นว่าอาจเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ในเรื่อง พยายามหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีศุลกากร หรือในการหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงบทกฎหมายและข้อจำกัดใด ๆ อันเกี่ยวแก่การนำของเข้า ส่วนผู้ครอบครองอาจเป็นความผิดตามมาตรา 27 ทวิ ฐานการรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงอากร นอกจากนั้นตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราภาษีศุลกากร พ.ศ.2530 มาตรา 6 กำหนดว่า ถ้าอธิบดีกรมศุลกากรเห็นว่ามีการหลีกเลี่ยงอากรที่พึงเก็บแก่สิ่งที่สมบูรณ์แล้ว โดยวิธีการนำสิ่งนั้นเข้ามาเป็นส่วน ๆ ต่างหากจากกัน จะเป็นวาระเดียวกันหรือต่างวาระกันก็ดีก็ให้เรียกเก็บอากรแก่ส่วนนั้น ๆ รวมกัน ในอัตราที่ถือเสมือนว่าเป็นสิ่งที่ได้ประกอบมาสมบูรณ์แล้ว ซึ่งกรมจะมีหนังสือแจ้งอธิบดีกรมศุลกากรพิจารณาตามบทกฎหมายดังกล่าว ส่วนความผิดฐานปลอมเอกสารเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นความผิดอีกฐานหนึ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไป รวมทั้งความผิดอื่นที่อาจพบในภายหลังด้วย

(2) ขั้นตอนการประกอบชิ้นส่วนขึ้นเป็นรถสมบูรณ์ พบหลักฐานว่า หจก. อ๊อด 89 เอ็นเตอร์ไพร์ส ได้ร่วมกับอู่วิชาญ เป็นผู้ประกอบรถยนต์จากเครื่องยนต์ ตัวถังที่ได้จากขั้นตอนที่ 1 โดยอุปกรณ์ส่วนควบอื่นๆไม่ปรากฏหลักฐานการนำเข้า ซึ่งการประกอบรถนี้เป็นไปตามการสั่งซื้อของพระรูปหนึ่งใน ราคา 4,000,000 บาท (สี่ล้านบาท) ในการนี้ หจก. อ๊อด 89 เอ็นเตอร์ไพร์ส ได้รับเงินไป 2,500,000 บาท ส่วนอู่วิชาญ ได้รับเงินค่าประกอบ 1,500,000 บาท ในส่วนการประกอบรถ ทางการสืบสวนปรากฏข้อเท็จจริงว่าอู่วิชาญไม่มีใบอนุญาตประกอบอุตสาหกรรม แต่มีการใช้ชื่อ อู่ N.P.การาจ (โรงประกอบรถยนต์ที่จดทะเบียนถูกต้อง) ในการประกอบรถยนต์ดังนั้นการประกอบรถยนต์คันนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 25 นอกจากนั้นยังอาจเป็นความผิดตามมาตรา 162 (1) ในความผิดฐาน ขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งสินค้าโดยรู้ว่าเป็นสินค้าที่มิได้เสียภาษีหรือเสียภาษีไม่ครบถ้วน อีกฐานหนึ่งด้วย

(3) ขั้นตอนการชำระภาษีสรรพสามิต พบหลักฐานว่านายชลัช เป็นผู้ดำเนินการนำเอกสารชุดประกอบรถยนต์ไปชำระภาษีสรรพสามิตตามมาตรา 48 (1) ประกอบมาตรา 117 แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 โดยการปลอมลายมือชื่อนางกาญจนา เจ้าของ อู่ N.P.การาจ (โรงประกอบรถยนต์ที่จดทะเบียนถูกต้อง) แสดงตนเพื่อขอชำระภาษีประกอบรถยนต์, ปลอมลายมือ ในหนังสือมอบอำนาจให้ตนเป็นผู้รับมอบอำนาจและยื่นเอกสารขอจดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จว่ามีการประกอบรถยนต์คันดังกล่าวโดย 
อู่ 
N.P.การาจ ทั้งที่ไม่ได้ทำการประกอบรถยนต์จริง ทำให้เจ้าหน้าที่หลงเชื่อแล้วจดแจ้งและรับชำระภาษีตามที่ นายชลัส มายื่นขอ อันเป็นความเท็จและเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527และประมวลกฎหมายอาญา ฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน และฐานปลอมและใช้เอกสารปลอม

(4) ขั้นตอนการจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก  พบหลักฐานว่านายชลัช ได้ว่าจ้างนายสมนึก ในการนำรถยนต์ไปจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก มีการปลอมและใช้เอกสารที่มีลายมือชื่อ นางกาญจนา ในแบบคำขอโอนและรับโอนของกรมการขนส่งทางบก (โอนลอย) จาก นางกาญจนา ไปยังพระผู้ใหญ่เพื่อแสดงว่า N.P.การาจ เป็นผู้ขายรถยนต์ต่อให้กับพระผู้ใหญ่ ,มีการปลอมลายมือชื่อนางกาญจนาในหนังสือมอบอำนาจให้ตนดำเนินการแทนปลอมและใช้ ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี ค่าแรงประกอบ ของ หจก.เอส ที วาย ออโต พาร์ท เพื่อให้เจ้าหน้าที่หลงเชื่อว่า หจก.เอส ที วายฯ เป็นผู้รับจ้าง N.P.การาจ ในการประกอบรถยนต์ อันเป็นความเท็จทั้งสิ้น รถยนต์ดังกล่าวจึงไม่สามารถจดทะเบียนเป็นรถยนต์ได้ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ และ ระเบียบกรมการขนส่งทางบก ว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับทะเบียนและภาษีรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ.2531

ข้อเท็จจริงจากการสืบสวนดังกล่าว เห็นได้ว่ามีการกระทำความผิดในทุกขั้นตอน กรมสอบสวนคดีพิเศษเห็นว่าเป็นการกระทำผิดทางอาญาที่มีความซับซ้อน กระทำผิดเป็นขบวนการ และมีบุคคลที่เกี่ยวข้องและอยู่ในข่ายที่จะต้องถูกดำเนินคดีอาญาหลายคน จำเป็นต้องใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเป็นพิเศษ รวมทั้งเป็นเรื่องที่อาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือระบบเศรษฐกิจ หรือการคลังของประเทศ ประกอบกับได้มีประกาศคณะกรรมการคดีพิเศษ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2554 เรื่อง กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 กำหนดให้คดีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ในเรื่องการหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร หรือหลีกเลี่ยงบทกฎหมายหรือข้อจำกัดใด ๆ อันเกี่ยวกับการนำของเข้า และความผิดตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 165 ในเรื่องการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ นำพยานหลักฐานหลักฐาน หรือเอกสารอันเท็จมาแสดงเพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษี ที่มีลักษณะดังกล่าวข้างต้น เป็นคดีพิเศษที่ต้องสืบสวนและสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ดังนั้น อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษจึงมีคำสั่งให้รับเรื่องดังกล่าวไว้สอบสวนเป็นคดีพิเศษ เพื่อพิสูจน์ความผิดและหาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีต่อไปแล้ว

 

********************************

ข่าวล่าสุด

ข่าวที่น่าสนใจ