บทความวิชาการ
เผยแพร่: 17 ส.ค. 2557 21:20 น. ปรับรุง: 17 ส.ค. 2557 21:20 น. เปิดอ่าน 5057 ครั้ง
การศึกษา: ปัญหาการทุจริตเกี่ยวกับการกำหนดราคากลาง
จากประสบการณ์การทำงานในกรมสอบสวนคดีพิเศษ
พ.ต.ท. อมฤต บูรณะกิจเจริญ
ความสำคัญของการกำหนดราคากลาง
ก่อนอื่นคำว่าราคากลาง หมายความว่าอย่างไร ซึ่งในความหมายคำว่าราคากลางตามคู่มือแนวทางการเปิดเผยรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ได้ให้คำนิยามไว้คือ
ราคากลาง หมายความว่า รายละเอียดราคามาตรฐานหรือราคาที่ใกล้เคียงความเป็นจริงเพื่อใช้เป็นฐานสำหรับเปรียบเทียบราคาที่ผู้เสนอราคาได้ยื่นเสนอไว้ ซึ่งสามารถจัดซื้อจัดจ้างได้จริง กับคำว่า
การคำนวณราคากลาง หมายความว่า วิธีการคำนวณราคาการจัดซื้อจัดจ้างในแต่ละรายการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ ที่หน่วยงานของรัฐกำหนด หรือปฏิบัติเพื่อให้ได้มาซึ่งราคากลาง
ความเป็นมาของราคากลาง
การกำหนดราคากลางงานก่อสร้างของทางราชการอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับนโยบายราคากลางงานก่อสร้าง ซึ่งแต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2548 เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2548 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553
เดิมหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2550 รวมทั้งหลักเกณฑ์ รายละเอียดประกอบ แนวทางและวิธีปฏิบัติที่เกี่ยวข้องตามประกาศและหนังสือเวียน ซึ่งต่อมา กระทรวงการคลังได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ กค.0421.5/ว.27 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2555 เวียนแจ้งเรื่องหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างของทางราชการ โดยอ้างคณะรัฐมนตรีได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2555 และมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2555 กระทรวงการคลังได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ กค.0421.3/ว.90 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2555 เวียนแจ้งหน่วยงานต่าง ๆ เรื่องแนวทางการเปิดเผยราคากลางงานก่อสร้างของทางราชการ
แต่ด้วยเหตุผลที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 58 ให้เพิ่มความมาตรา 103/7 วรรคหนึ่งซึ่งกำหนดให้หน่วยงานของรัฐ ต้องดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้ รวมทั้งเป็นการรายงานผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2555 กระทรวงการคลัง โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง) ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ กค0421.5/21110 ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2555 เรียนเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่องการปรับปรุงหลักเกณฑ์ แนวทางและวิธีการปฏิบัติในการเปิดเผยราคากลางงานก่อสร้างของทางราชการ ซึ่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (นายอำพน กิตติอำพน) ได้มีหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุดที่ นร0505/ว298 ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2555 เรื่องการปรับปรุงหลักเกณฑ์ แนวทางและวิธีการปฏิบัติในการเปิดเผยราคากลางงานก่อสร้างของทางราชการ กราบเรียน/เรียน รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีเพื่อโปรดทราบและขอได้โปรดแจ้งในส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐในกำกับดูแล ทราบต่อไป
ต่อมากระทรวงการคลัง เสนอและกำหนดแนวทางการปรับปรุงหลักเกณฑ์ แนวทางและวิธีการปฏิบัติในการเปิดเผยราคากลางงานก่อสร้างของทางราชการ ซึ่งเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบโดยให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐรวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถือปฏิบัติตามแนวทางการเปิดเผยราคากลางงานก่อสร้างของทางราชการ และแนวทางการเปิดเผยราคากลางเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างประเภทอื่นที่มิใช่งานก่อสร้าง โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 103/8 วรรคหนึ่ง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่2) พ.ศ.2554
แนวทางและวิธีการการปฏิบัติในการเปิดเผยราคากลางของทางราชการ ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556 เป็นมาตรการเชิงป้องปรามการทุจริต และให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้ ซึ่งมีผลบังคับใช้กับการจัดซื้อจัดจ้าง 7 ประเภท กล่าวคือ
1. งานก่อสร้าง
2. การจ้างควบคุมงาน
3. การจ้างออกแบบ
4. การจ้างที่ปรึกษา
5. การจ้างงานวิจัยหรือเงินสนับสนุนให้ทุนการวิจัย
6. การจ้างพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์
7. การจัดซื้อจัดจ้างที่มิใช่งานก่อสร้าง รวมถึงการเช่า เช่าซื้อ แลกเปลี่ยนด้วย
โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 สิงหาคม 2556 เป็นต้นไปโดยให้หน่วยงานของรัฐประกาศรายละเอียดค่าใช้จ่าย เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างราคากลางและคำนวณราคากลางในการจัดซื้อจัดจ้างที่มีวงเงินเกินกว่า 100,000 บาท ไม่วาจะเป็นการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีใดก็ตาม โดยให้ประกาศในระบบฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของกรมบัญชีกลาง (e-GP) และในเว็บไซต์ของหน่วยงานนั้น หากหน่วยงานของรัฐไม่ปฏิบัติจะมีบทกำหนดโทษดังนี้
1. เจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างอาจมีความผิดทางวินัย เช่น คณะกรรมการกำหนดราคากลาง เจ้าหน้าที่ผู้กำหนดราคา หรือเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างครั้งดังกล่าว
2. เป็นเหตุที่จะถูกถอดถอนจากตำแหน่งหรือต้องพ้นจากตำแหน่ง หากเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่พิจารณา อนุมัติ หรือดำเนินการเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าว เป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง หรือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งซึ่งกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 กำหนดให้สามารถถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ หากบุคคลดังกล่าวได้จัดทำข้อมูลรายละเอียดราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ถือเป็นการกระทำซึ่งเป็นเหตุให้ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ นอกจากนี้ แม้ผู้มีอำนาจหน้าที่พิจารณา อนุมัติหรือดำเนินการเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าว จะไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง หากไม่จัดทำข้อมูลรายละเอียดราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ก็อาจถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งได้ตามกฎหมายของหน่วยงานนั้น เช่น ผู้บริหารท้องถิ่น เป็นต้น
3.ความผิดทางอาญาแม้มาตรา 103/8 วรรคสอง มิได้กำหนดว่าการไม่จัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง ราคากลางและการคำนวณราคากลาง ไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว เป็นความผิดทางอาญาก็ตาม แต่การไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัตินั้น อาจเป็นความผิดทางอาญาฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงในแต่ละกรณี
ข.ปัญหาที่พบเกี่ยวกับราคากลางในแง่ของความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ
ปัญหาที่พบเกี่ยวกับกระบวนการสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับการกระทำความผิด การเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ เนื่องจากการกำหนดราคากลาง ถือว่าเป็นจุดหรือหัวใจสำคัญของการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมและถือเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งในการวินิจฉัยว่าการกระทำของบุคคลใดๆจะเข้าข่ายการกระทำความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในมาตรา 4,5,8 หรือมาตรา 11 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 กล่าวคือ
มาตรา 4 ผู้ใดตกลงร่วมกันในการเสนอราคา เพื่อวัตถุประสงค์ที่จะให้ประโยชน์แก่ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ โดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม หรือโดยการกีดกันมิให้มีการเสนอสินค้าหรือบริการอื่นต่อหน่วยงานของรัฐ หรือโดยการเอาเปรียบแก่หน่วยงานของรัฐอันมิใช่เป็นไปในทางการประกอบธุรกิจปกติ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสามปี และปรับร้อยละห้าสิบของจำนวนเงินที่มีการเสนอราคาสูงสุดในระหว่างผู้ร่วมกระทำความผิดนั้น หรือของจำนวนเงินที่มีการทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐแล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า
ผู้ใดเป็นธุระในการชักชวนให้ผู้อื่นร่วมตกลงกันในการกระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง ผู้นั้นต้องระวางโทษตามวรรคหนึ่ง
มาตรา 5 ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้เงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ผู้อื่นเพื่อประโยชน์ในการเสนอราคา โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะจูงใจให้ผู้นั้นร่วมดำเนินการใด ๆอันเป็นการให้ประโยชน์แก่ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ หรือเพื่อจูงใจให้ผู้นั้นทำการเสนอราคาสูงหรือต่ำจนเห็นได้ชัดว่าไม่เป็นไปตามลักษณะสินค้า บริการ หรือสิทธิที่จะได้รับ หรือเพื่อจูงใจให้ผู้นั้นไม่เข้าร่วมในการเสนอราคาหรือถอนการเสนอราคา ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปีและปรับร้อยละห้าสิบของจำนวนเงินที่มีการเสนอราคาสูงสุดในระหว่างผู้ร่วมกระทำความผิดนั้นหรือของจำนวนเงินที่มีการทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐแล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า
ผู้ใดเรียก รับ หรือยอมจะรับเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เพื่อกระทำการตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดด้วย
มาตรา 8 ผู้ใดโดยทุจริตทำการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐโดยรู้ว่าราคาที่เสนอนั้นต่ำมากเกินกว่าปกติจนเห็นได้ชัดว่าไม่เป็นไปตามลักษณะสินค้าหรือบริการ หรือเสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่หน่วยงานของรัฐสูงกว่าความเป็นจริงตามสิทธิที่จะได้รับ โดยมีวัตถุประสงค์เป็นการกีดกันการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมและการกระทำเช่นว่านั้น เป็นเหตุให้ไม่สามารถปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาได้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสามปี และปรับร้อยละห้าสิบของจำนวนเงินที่มีการเสนอราคา หรือของจำนวนเงินที่มีการทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐแล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า
ในกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาได้ตามวรรคหนึ่ง เป็นเหตุให้หน่วยงานของรัฐต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการดำเนินการให้แล้วเสร็จตามวัตถุประสงค์ของสัญญาดังกล่าว ผู้กระทำผิดต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายให้แก่หน่วยงานของรัฐนั้นด้วย
ในการพิจารณาคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ถ้ามีการร้องขอ ให้ศาลพิจารณากำหนดค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องรับภาระเพิ่มขึ้นให้แก่หน่วยงานของรัฐตามวรรคสองด้วย
มาตรา 11 เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐผู้ใด หรือผู้ได้รับมอบหมายจากหน่วยงานของรัฐผู้ใด โดยทุจริตทำการออกแบบ กำหนดราคา กำหนดเงื่อนไข หรือกำหนดผลประโยชน์ตอบแทน อันเป็นมาตรฐานในการเสนอราคาโดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม หรือเพื่อช่วยเหลือให้ผู้เสนอราคารายใดได้มีสิทธิเข้าทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐโดยไม่เป็นธรรม หรือเพื่อกีดกันผู้เสนอราคารายใดมิให้มีโอกาสเข้าแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
หากพิจารณาเกี่ยวกับการกำหนดราคากลาง ถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญที่จะพิจารณาถึงการกระทำของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องรวมทั้งบุคคลภายนอกที่เสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐในเรื่องนั้นๆ
ประเด็นที่จะต้องพิจารณาจะพบว่า การกำหนดราคากลาง มีองค์ประกอบหลายอย่างซึ่งสิ่งหนึ่งที่จะขาดไม่ได้คือมาตรฐานวิชาชีพในเรื่องนั้น ๆ ของแต่ละสาขา แม้ว่าปัจจุบันคณะกรรมการป.ป.ช.ร่วมกับคณะรัฐมนตรีจะได้มีมติกำหนดการกำหนดราคากลางของทางราชการเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง 7 ประเภทของการจัดซื้อ ซึ่งแต่ละอย่างย่อมมีความสลับซับซ้อน และมีวิชาชีพแตกต่างกันไป ดังนั้นจึงจะเกิดปัญหาอยู่บ่อยๆ เกี่ยวกับหน่วยงานทางราชการได้รับการจัดสรรงบประมาณเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานก่อสร้าง เมื่อกำหนดราคากลางจากหน่วยงานนั้น ๆ แล้ว และประกาศประกวดราคาจัดจ้างก็ไม่ประสบผลสำเร็จในการหาผู้ชนะการประกวดราคา กล่าวคือไม่มีผู้เข้ายื่นประกวดราคา เป็นให้ให้การจัดการประกวดราคานั้นต้องยกเลิก หากสอบถามถึงผู้มาซื้อซองประกวดราคาและไม่ยอมยื่นเสนอราคา ก็มักจะได้คำตอบว่า ราคากลางต่ำเกินไปไม่สามารถดำเนินการได้ เกรงจะขาดทุน หรืออาจถูกปรับตามสัญญาภายหลังที่เข้าดำเนินงาน ตัวอย่างเช่น กรณีมหาลัยราชภัฏราชนครินทร์ (จังหวัดฉะเชิงเทรา) จัดประกวดราคาดำเนินการก่อสร้างอาคารเรียน ผลปรากฏว่า มีแต่ผู้มายื่นซื้อซองประกวดราคาแต่ไม่มีผู้ใดหรือบริษัทใดยื่นเข้าแข่งขันราคา จึงเกิดปัญหาว่า มาตรฐานการกำหนดราคากลางของหน่วยงานนั้นๆถูกต้องหรือไม่ และเมื่อมีการตรวจสอบภายหลังว่าการกำหนดราคากลางนั้นถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่ ใครจะเป็นผู้ให้ความเห็นได้ โดยปกติทั่วไป ส่วนราชการด้วยกันก็มักจะขอความร่วมมือจากหน่วยงานของรัฐด้วยกัน เช่น กรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อช่วยตรวจสอบแบบการก่อสร้าง ในการถอดแบบกำหนดราคาค่าก่อสร้างในภาวการณ์ของปีนั้นๆ ซึ่งจะต้องใช้เวลายาวนานและไม่ทันต่อเหตุการณ์เกี่ยวกับกระบวนการสืบสวนสอบสวนเพื่อให้ทราบความจริงในเรื่องนั้น
แต่หากเป็นเรื่องกำหนดราคากลางที่สูงเกินความเป็นจริง (งบประมาณมากกว่าความเป็นจริง) ก็มักจะเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างที่มิใช่งานก่อสร้าง ซึ่งรวมถึงการเช่า เช่าซื้อ แลกเปลี่ยนด้วย ซึ่งเกิดจากหน่วยงานนั้นๆเสนอขอจัดตั้งงบประมาณสูงเกินความจำเป็นตัวอย่างเช่น การตั้งงบประมาณจัดซื้อเครื่องวัดคลื่นสั่นสะเทือนพื้นดินของกรมทรัพยากรธรณี ซึ่งมีเรื่องร้องเรียนมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อตรวจสอบเกี่ยวกับการใช้งบประมาณ รวมทั้งความไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการจัดร่างเอกสารการประกวดราคา
ดังนั้น มุมมองในแง่ของพนักงานสอบสวน เมื่อได้รับเรื่องร้องเรียนเข้ามา หรือจากหน่วยงานราชการที่มีเหตุสงสัยและประสงค์ให้หน่วยงานราชการ เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษเข้าตรวจสอบ จึงมักพบอุปสรรคเกี่ยวกับการตรวจสอบในเรื่องราคากลางในเรื่องนั้นๆ คือ
1.หน่วยงานกลางที่จะให้ความช่วยเหลือในการตรวจสอบแบบแปลน การถอดแบบ การประเมินราคาสิ่งก่อสร้าง จะเป็นหน่วยงานใดที่ให้ความร่วมมือและมีประสิทธิภาพรวดเร็ว และเป็นกลาง เป็นธรรมอย่างแท้จริง หากเป็นหน่วยงานราชการ เช่น กรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งมีงานประจำอยู่มาก ก็ต้องใช้เวลานานมากและเป็นไปในลักษณะขอความร่วมมือหรือความอนุเคราะห์ในการถอดแบบและแจ้งราคากลาง แต่หากเป็นหน่วยงานเอกชนหรือสมาคม สภาวิชาชีพ ก็มีความขัดข้องในอีกหลายเรื่อง เช่น อาจจำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายในการถอดแบบ รวมทั้งระยะเวลาและที่สำคัญที่สุดคือ ผู้ที่ให้ความเห็นและรายงานผลต้องยอมให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบบันทึกปากคำประกอบเอกสารการสรุปในเรื่องนั้น ๆ ซึ่งเป็นปัญหาอย่างยิ่งเพราะบางท่านไม่ยินยอมที่จะให้ปากคำ เกรงกลัวจะต้องไปเป็นพยานในคดีที่มีความผิดต่ออาญาแผ่นดิน
2.ความรู้ความเข้าใจของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ เพราะเรื่องที่จะทำการบันทึกปากคำเกี่ยวเนื่องกับการวิเคราะห์เชิงวิชาชีพของแต่ละด้าน ดังนั้น ในเรื่องนี้ถือเป็นอุปสรรคค่อนข้างมากเพราะประเด็นที่จะทำการสืบสวนสอบสวน หากพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบไม่เข้าใจดีพอก็ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์เกี่ยวกับองค์ประกอบการกระทำของเจ้าหน้าที่หรือของบุคคลภายนอกที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเสนอราคาหรือจัดการประกวดราคาในเรื่องนั้น ๆ
3. ความรู้ความเชี่ยวชาญในวิชาชีพของแต่ละสาขาโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการจัดซื้อเครื่องมือเครื่องใช้ในความรู้แต่ละด้านที่หน่วยงานของรัฐขอจัดซื้อจัดจ้าง รวมทั้งระบบการทำงานของเครื่องมือและประสิทธิภาพของเครื่องมือ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจสอบและเข้าใจเครื่องมือเครื่องใช้ดังกล่าว โดยปกติผู้ที่จะให้รายละเอียดได้ดีมักจะเป็นคู่กรณีของผู้เข้าแข่งขันซึ่งไม่ได้รับความเป็นธรรม ตัวอย่างเช่น การจัดซื้อเครื่องวัดคลื่นสั่นสะเทือนพื้นดิน หากผู้ร้องเรียนร้องเกี่ยวกับการล็อคสเปก เพื่อให้เครื่องมือยี่ห้อหนึ่งยี่ห้อใดเข้าแข่งขันได้เพียงบริษัทเดียวและกีดกันเครื่องมือยี่ห้ออื่น ไม่สามารถเข้าร่วมการแข่งขันได้ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษจำต้องรู้คุณสมบัติและประสิทธิภาพของเครื่องมือดังกล่าวด้วย จึงจะทราบว่ามีการกีดกันเกี่ยวกับการออกคุณลักษณะของเครื่องมือดังกล่าวจริงหรือไม่ (TOR)