อธิบดี DSI ชี้แจงกรณีบุกรุกภูขี้ไก่ จังหวัดเพชรบูรณ์ เคยรับคดีพบมูลความผิดเจ้าหน้าที่รัฐ ส่ง ป.ป.ท.ดำเนินคดี – แจ้งกรมที่ดินพิจารณาเพิกถอนเอกสารสิทธิแล้ว
เผยแพร่: 30 ต.ค. 2561 14:21 น. ปรับรุง: 30 ต.ค. 2561 14:21 น. เปิดอ่าน 1644 ครั้ง
อธิบดี DSI ชี้แจงกรณีบุกรุกภูขี้ไก่ จังหวัดเพชรบูรณ์ เคยรับคดีพบมูลความผิดเจ้าหน้าที่รัฐ
ส่ง ป.ป.ท.ดำเนินคดี – แจ้งกรมที่ดินพิจารณาเพิกถอนเอกสารสิทธิแล้ว
ตามที่ปรากฏข้อมูลตามสื่อสาธารณะต่างๆ เกี่ยวกับกรณีเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2561 พันเอก พงษ์เพชร เกษสุภะ หัวหน้าชุดปฏิบัติการศูนย์ปฏิบัติการที่ 4 (ศปป.4) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้ส่งข้อความผ่านไลน์เข้าไปในกลุ่มต่างๆ ในลักษณะระบายความอัดอั้นที่เห็นการทำงานของระบบราชการที่ล่าช้าและไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติการเพื่อดำเนินการกับนายทุนที่รุกป่า กรณีที่เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2561 มีการจัดงานเปิดตัวโครงการสวนน้ำแห่งใหม่ที่ใหญ่ที่สุด พื้นที่ประมาณ 1,800 ไร่ บริเวณภูขี้ไก่ รอยต่อของอำเภอหล่มเก่า และอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ทั้งที่กำลังอยู่ในกระบวนการเพิกถอนโฉนดของกรมที่ดินและเป็นคดีอยู่ในความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ นั้น
พันตำรวจเอก ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ตรวจสอบข้อมูลเรื่องดังกล่าวแล้วพบว่า กรมป่าไม้ ได้มีหนังสือที่ ทส 1612.2/7959 ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2549 ถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เรื่อง การออกเอกสารสิทธิที่ดิน แจ้งว่าเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ได้เข้าตรวจสอบพื้นที่ป่าบนภูขี้ไก่ รอยต่อของอำเภอหล่มเก่าและอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ พบมีการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินและมีการนำเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดินมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ว่าเป็นการครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่กรมป่าไม้พิจารณาจากสภาพพื้นที่ เห็นว่าเป็นป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 โดยมีสภาพป็นเขาสูงชัน เป็นป่าต้นน้ำลำธาร ชั้น 1 บี และชั้น 2 พื้นที่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นป่าสมบูรณ์ และขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการกรณีดังกล่าว ซึ่งคณะกรรมการคดีพิเศษได้มีมติในการประชุม ครั้งที่ 5/2550 เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2550 ให้เป็นคดีพิเศษที่ 96/2550 และพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ สำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ได้สืบสวนสอบสวนร่วมกับผู้เชี่ยวชาญของศาลในทางวิเคราะห์แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการออกเอกสารสิทธิดังกล่าว และเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงได้ส่งเรื่องไปยังสำนักงาน ป.ป.ท. เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2551 และเนื่องจากผลการสอบสวนที่พบว่าเป็นการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบดังกล่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงได้มีหนังสือ ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2552 แยกเรื่องส่งให้กรมที่ดินไปพิจารณาดำเนินการตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 เพื่อพิจารณาเพิกถอนเอกสารสิทธิในที่ดินดังกล่าวอีกส่วนหนึ่งด้วย
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่กรมได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายข้างต้นแล้ว กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษพื้นที่ภาค 6 ซึ่งมีภารกิจด้านการข่าว และการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษในพื้นที่ดังกล่าว ก็ได้รับแจ้งเบาะแสถึงกรณีกลุ่มนายทุนต่างชาตินำเงินมาลงทุนซื้อที่ดินบริเวณที่เกิดเหตุซึ่งเป็นพื้นที่ลาดชันสูง มีการสร้างสิ่งปลูกสร้าง และปรับพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์ จึงรับเรื่องไว้สืบสวน เป็นสำนวนสืบสวนที่ 213/2561 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2561 ซึ่งจากการสืบสวนพบว่าพื้นที่เกิดเหตุยังมีเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดินป็นหลักฐานแสดงกรรมสิทธิอยู่ โดยบางแปลงเป็นพื้นที่มีความลาดชันเกิน 35 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตามปกติไม่อาจออกเอกสารสิทธิได้ และบางแปลงเป็นการอ้างการครอบครองต่อเนื่องโดยไม่มีเอกสาร ส.ค.1 และไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดิน คงมีที่ดินเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ยังไม่พบหลักฐานว่าออกโดยขัดหลักเกณฑ์การออกเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดิน นอกจากนั้น จากการลงพื้นที่ยังได้พบกลุ่มบุคคลที่พักอยู่ในบริเวณดังกล่าวมีพฤติการณ์ส่อไปในทางสร้างลัทธิหรือความเชื่อใหม่ๆ โดยใช้ชื่อว่า “ชุมชนธะธรรมชาติ” ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษจะเร่งสืบสวนว่าเป็นความผิดอาญาที่เข้าข่ายตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 หรือไม่ เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
คณะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ
30 ตุลาคม 2561