"เล่ห์แชร์ลูกโซ่" ร้อยตำรวจเอก ปิยะ รักสกุล รองผู้บัญชาการสำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม
เผยแพร่: 19 ส.ค. 2558 14:40 น. ปรับรุง: 19 ส.ค. 2558 14:40 น. เปิดอ่าน 3408 ครั้ง"เล่ห์แชร์ลูกโซ่"
ร้อยตำรวจเอก ปิยะ รักสกุล
รองผู้บัญชาการสำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม
สังคมไทยรู้ซึ้งถึงพิษสงของ "แชร์ลูกโซ่" มาแล้วหลายสิบปี ที่ดังๆ ติดหูคนไทยเช่น แชร์ชาร์เตอร์ แชร์แม่ชม้อย-แม่นกแก้ว ฯลฯแม้ในปัจจุบันยังมีคนตกเป็นเหยื่อขบวนการเหล่านี้อยู่ เนื่องจากผู้กระทำความผิดได้พัฒนารูปแบบและวิธีการหลอกลวงให้มีความซับซ้อนและแนบเนียนยิ่งขึ้นโดย อาศัยความโลภของมนุษย์เป็นเครื่องมือ พัฒนากลโกงจาก "ขายตรง-น้ำมัน-สินค้าเกษตร-ฌาปนกิจ" เป็น "แชร์ลูกโซ่ออนไลน์"ใช้ช่องทางการสื่อสารด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่เพื่อเข้าถึงเหยื่อผู้บริโภคได้ง่ายดายเพียงแค่ใช้ปลายนิ้วคลิกเจาะเข้าถึงในบ้านถึงในห้องนอน อันตรายถึงเด็กและเยาวชน
"แชร์ลูกโซ่" เป็นการหลอกลวงประชาชนที่แฝงตัวมาในรูปแบบต่างๆ ที่พบมากในประเทศไทยอาจแบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม คือ
1.แชร์ลูกโซ่ที่แฝงมากับการลงทุนน้ำมันดิบ ทองคำ สกุลเงินต่างประเทศ โดยใช้ผลประโยชน์หลอกลวง ชักจูงในการเก็งกำไรจากการ "ซื้อขายล่วงหน้า" โดยในส่วนนี้มีกฎหมายควบคุมอยู่แล้ว และอยู่ในความรับผิดชอบดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
2.แชร์ลูกโซ่ที่แฝงมากับการลงทุนสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ซึ่งในส่วนนี้มีสำนักงานคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า (ก.ส.ล.) กระทรวงพาณิชย์ เป็นหน่วยงานกำกับดูแล
3.แชร์ลูกโซ่ที่แฝงมากับ "ธุรกิจขายตรง" สินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ในส่วนนี้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ
4.แชร์ลูกโซ่ที่แฝงมากับกองทุน "ฌาปนกิจสงเคราะห์"
ส่วนรูปแบบและวิธีการของแชร์ลูกโซ่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเท่าใดนัก คือ เน้นหาสมาชิก มีหัวหน้าทีม ให้ผลตอบแทนสูงมากดึงดูดคนให้ผู้บริโภคเป็นเหยื่อ เน้นหาเพื่อนมาร่วมลงทุนจำนวนมาก ผลตอบแทนมากขึ้นตามจำนวนสมาชิกในทีม
สำหรับกลุ่มแชร์ลูกโซ่ที่ชักชวนให้ลงทุนทองคำและสกุลเงินต่างประเทศ พบมีการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือในการหลอกลวงมากขึ้น มีการเปิดให้ตรวจสอบบัญชีของตัวเอง ซึ่งช่วงแรกจะพบว่าบัญชีตัวเองมีผลตอบแทนเข้ามาจริง แต่สุดท้ายปิดเว็บไซต์หนี แล้วไปเปิดเว็บใหม่
จากการทำงานพบว่าภาพรวมปัญหาแชร์ลูกโซ่ในสังคมไทยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากแชร์ลูกโซ่แฝงไปกับธุรกิจต่างๆ มากกว่าในอดีต จนทำให้มีคดีความมากขึ้น เมื่อพิจารณาถึงลักษณะวิธีการหลอกลวงแล้วมีหลากหลายรูปแบบ และมีความสลับซับซ้อนมากขึ้นเดิมแชร์ลูกโซ่มักแฝงไปกับสินค้าพื้นเมืองแต่ละภาค เช่น ข้าวสาร ยางพารา ล็อตเตอรี่ คือเอาสินค้าบังหน้า มีแผนการตลาดหลากหลาย ความจริงที่ซ่อนอยู่คือการหมุนเวียนเงินช่องทางสำคัญที่แก๊งแชร์ลูกโซ่ใช้เข้าถึงเหยื่อในปัจจุบัน คือ "โลกออนไลน์" ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ หรือเฟซบุ๊ค โดยแฝงมากับสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงที่น่าเป็นห่วงมาก เนื่องจากเป็นช่องทางที่เด็กและเยาวชนเข้าถึงได้ง่าย และหากเป็นเว็บไซต์ที่อยู่ต่างประเทศก็จะยากต่อการดำเนินคดี
สิ่งที่สำคัญในการป้องกันและปราบปรามขบวนการแชร์ลูกโซ่ คือการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ อย่างต่อเนื่อง แจ้งเตือนประชาชนผู้บริโภคให้รู้เท่าทัน สามารถทำการตรวจสอบเรื่องการลงทุนให้แน่ชัดก่อนตัดสินใจลงทุน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทมีอยู่จริงหรือไม่ ในต่างประเทศมีอยู่จริง แต่ในประเทศไทยเป็นของจริงหรือไม่บริษัทเปิดมาเพื่อทำกิจการอะไรหรือเปิดมาเพื่อหมุนเวียนเงิน หรือแผนการตลาดให้ผลตอบแทนได้จริงหรือไม่ อย่าเพิ่งเชื่อง่ายๆส่วนแผนการลงทุน ต้องดูว่าเงินทุนที่ลงไปนั้น บริษัทนำไปลงทุนอะไร สินค้าหรืออสังหาริมทรัพย์ แต่ถ้าไม่มีการทำธุรกิจอะไรเลย หรือไม่ลงทุนอะไรเลย แล้วจะนำผลกำไรกลับมาจากการดำเนินธุรกิจได้อย่างไร
การดำเนินการทางกฎหมายสามารถดำเนินคดีได้ 3 ส่วนพร้อมๆ กัน คือ 1.คดีอาญา ข้อหาฉ้อโกงประชาชน และการกระทำผิดตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน 2.คดีความผิดทางอาญาฐานฟอกเงิน และ 3.คดีแพ่งตามมาตรการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน คดีล้มละลาย เพื่อปราบปรามหยุดยั้งการกระทำความผิด นำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ และดำเนินการในการนำทรัพย์สินไปขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาเฉลี่ยคืนให้ผู้เสียหายได้
หน่วยงานที่ทำหน้าที่ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ที่กล่าวแล้วข้างต้น รวมถึงหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ต้องผนึกกำลังกันเพื่อป้องกันและปราบปรามขบวนการแชร์ลูกโช่ โดยร่วมกันให้ความรู้แก่ประชาชน อย่างต่อเนื่องถึงเล่ห์กลโกง รูปแบบวิธีการขององค์กรอาชญากรรม ที่ถึงแม้จะสลับซับซ้อนมากขึ้น หากมีการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนอย่างต่อเนื่องทันท่วงที ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น จริงจัง จะสามารถหยุดยั้งความเสียหายจากเล่ห์เหลี่ยมกลโกงของผู้กระทำความผิดไม่ให้ประชาชนผู้บริโภคต้องตกเป็นเหยื่อซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนลุกลามส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจการคลังของประเทศเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา และการรักษาความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนอย่างยั่งยืน
......................................................................................................................................................