แถลงการณ์ ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.)ฉบับที่ ๓ เรื่อง ข้อเรียกร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และกลุ่มผู้สนับสนุน กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพื่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบเรียบร้อย

เผยแพร่: 6 พ.ค. 2557 17:47 น. ปรับรุง: 6 พ.ค. 2557 17:47 น. เปิดอ่าน 975 ครั้ง  
 
แถลงการณ์
ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.)ฉบับที่ ๓
เรื่อง ข้อเรียกร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และกลุ่มผู้สนับสนุน กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพื่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบเรียบร้อย
 
----------------------------------------
 
ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ ศอ.รส. เป็นหน่วยงานพิเศษที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดย ศอ.รส. มีภารกิจสำคัญในการสนธิกำลัง ทั้งข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ และข้าราชการพลเรือน ตลอดจนเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงต่างๆ เพื่ออำนวยการและปฏิบัติการให้เกิดความเรียบร้อยในทุกๆ มิติ ทั้งในเขตพื้นที่รับผิดชอบ และสังคมในภาพรวม
 
 
​นับตั้งแต่วันที่ได้มีการจัดตั้ง ศอ.รส. เพื่อปฏิบัติภารกิจสำคัญดังกล่าว ศอ.รส. ก็ได้ทำหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการทั้งปวงให้บ้านเมืองเกิดความสงบเรียบร้อยได้ตลอดมาในระดับหนึ่ง และจากการประเมินสถานการณ์ในปัจจุบัน มีข้อมูลเพียงพอที่บ่งชี้ได้ว่าจะเกิดความรุนแรงและเหตุร้ายขึ้นในเขตพื้นที่รับผิดชอบของ ศอ.รส. โดยเฉพาะการระดมจัดมวลชนให้มีการชุมนุมใหญ่ ทั้งของ กปปส. และ นปช. และกลุ่มอื่นๆ ในลักษณะท้าทายและแข่งขันกัน ภายใต้เงื่อนไขสำคัญคือการวินิจฉัยขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ๒ องค์กร คือ คณะกรรมการ ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญ ดังที่ ศอ.รส. ได้มีแถลงการณ์ ฉบับที่ ๑ และฉบับที่ ๒ เสนอข้อเรียกร้องให้ทุกฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการในแนวทางที่จะทำให้ปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยที่เกิดขึ้นและยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ได้คลี่คลายหรือยุติลง นั้น
 
ศอ.รส. ยังคงมีข้อห่วงใยและข้อวิตกกังวลต่อการวินิจฉัยขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญซึ่งได้มีการพิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาดคดีที่จะทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง ซึ่งจะทำให้การแก้ไขปัญหาความไม่สงบเรียบร้อย ไม่อาจบรรลุผล ดังนี้
 
 
ประการที่หนึ่งในการใช้อำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ยังคงใช้วิธีพิจารณาและทำคำวินิจฉัยตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๕๐  ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้กำหนดขึ้นเอง ทั้ง ๆ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ และต้องตราพระราชบัญญัติดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน ๑ ปี นับแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๒๑๖ ประกอบกับมาตรา ๓๐๐  ซึ่งนับแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๐ จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ ๗ ปีแล้ว แต่ก็ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ดำเนินการผลักดันให้มีการตราพระราชบัญญัติดังกล่าวตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ได การกำหนดวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญในรูปของกฎหมายนั้น ก็เพื่อควบคุมการใช้อำนาจของศาล ทำนองเดียวกับศาลยุติธรรมและศาลปกครอง เมื่อวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ ในรูปของกฎหมาย จึงทำให้สาธารณชนเกิดความสับสนต่อการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าเป็นไปตามหลักนิติธรรมและถูกต้องตามหลักความยุติธรรมหรือไม่ อีกทั้งการไม่มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่า
 
 
ด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกโดยรัฐสภาอาจส่งผลให้การพิจารณาวินิจฉัยคดี ไม่มีมาตรฐาน   ขาดความชัดเจนในกระบวนการพิจารณา เพราะไม่มีกรอบแห่งการใช้อำนาจ อาทิเช่น ไม่มีกำหนดระยะเวลาในกระบวนการพิจารณาในคดีแต่ละประเภทอย่างชัดเจนทำให้บางคดีได้กระทำด้วยความรีบเร่งผิดปกติ หรือการทำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ชัดเจนว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นองค์คณะทุกคนได้ทำคำวินิจฉัยส่วนตน พร้อมแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุมก่อนการลงมติตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๖ วรรคสอง กำหนดไว้หรือไม่ เพียงใด หรือไม่มีการกำหนดเวลาที่ชัดเจนในการเผยแพร่คำวินิจฉัยกลาง และคำวินิจฉัยส่วนตนในราชกิจจานุเบกษา ทำให้บางคดีมีการนัดฟังคำวินิจฉัยไปแล้วหลายเดือน แต่ไม่มีการประกาศคำวินิจฉัยกลางในราชกิจจานุเบกษาตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๖ วรรคสาม กำหนดไว้ ดังนั้น การที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหรือการพิจารณาคดีโดยไม่มีกฎหมายรองรับทำให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมามีปัญหาความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมเสียเอง
 
 
ประการที่สอง จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่สำคัญในหลายคดีที่ผ่านมา ก็มักถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากว่า มีปัญหาในเรื่องความยุติธรรม หลายคดีวินิจฉัยก้าวล่วงการใช้อำนาจอธิปไตยขององค์กรอื่นโดยไม่มีอำนาจ ขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ ไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรมในหลาย ๆ คดี อาทิเช่น
 
 
​๑.​คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีการสืบพยานในคดีอุ้มฆ่านายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี่ นักธุรกิจเชื้อพระวงศ์ซาอุดิอาระเบีย ซึ่งการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญคดีดังกล่าวไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์                      ของพระราชบัญญัติความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งได้ประกาศใช้มานานกว่า ๒๐ ปี และมีการดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าวมาตลอด ว่ามีเหตุผลความจำเป็นในการตรากฎหมายฉบับนี้อย่างไร แต่คำวินิจฉัยกลับมุ่งคุ้มครองจำเลยในคดีอุ้มฆ่านักธุรกิจเชื้อพระวงศ์ซาอุดิอาระเบีย ว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรมและถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพจากการนำประเด็นในคดีนี้ไปสืบพยานโจทก์ในต่างประเทศ โดยมิได้คุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๐ (๒) (๓) (๔) (๕) ทำให้บรรดาพยานหลักฐานและเอกสารที่ได้มาจากการไปสืบพยานในต่างประเทศเป็นอันรับฟังไม่ได้ตามกฎหมาย ส่งผลให้จำเลยในคดีอาญาโดยเฉพาะจำเลยในคดีอุ้มฆ่านักธุรกิจเชื้อพระวงศ์ซาอุดิอาระเบียได้รับประโยชน์โดยตรง  อีกทั้งยังเป็นการปิดปากพยานโจทก์ปากสำคัญไปโดยปริยายอีกด้วย คำวินิจฉัยดังกล่าวนอกจากจะมีผลกระทบต่อรูปคดีแล้ว ยังก่อให้เกิดความเสียหายทั้งต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทย และต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะต่อการให้ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญาในแนวทางสากลเป็นอย่างยิ่ง และทำให้ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยกับประเทศซาอุดิอาระเบียซึ่งเพิ่งจะปรับตัวดีขึ้นกลับจะต้องเสื่อมโทรมลงไปอีก
 
๒.​คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภาไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เป็นคำวินิจฉัยที่น่าจะไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลว่า
​​(๑)​การยื่นคำร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๘ วรรคสอง กำหนดให้บุคคลมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งหมายความว่า บุคคลต้องยื่นเรื่องให้อัยการสูงสุดก่อน ภายหลังอัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่ามีมูล อัยการสูงสุด   จึงจะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ อันเป็นการคานอำนาจศาลรัฐธรรมนูญตามหลักสากล การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การเสนอคำร้องตามมาตรา ๖๘ วรรคสอง บุคคลมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้โดยตรง โดยไม่ต้องเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน จึงไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และไม่เป็นไปตามแนวการวินิจฉัยเดิม ซึ่งเคยวินิจฉัยว่าต้องเสนอผ่านอัยการสูงสุด
(๒)​การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา โดยรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่จะเข้าไปตรวจสอบการดำเนินการดังกล่าวได้ ซึ่งจะแตกต่างจากการตราพระราชบัญญัติทั่วไป
​​(๓)​การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องในเรื่องดังกล่าวโดยอาศัยรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๘  อันเป็นเรื่องของการพิทักษ์รัฐธรรมนูญนั้น มาตรา ๖๘ เป็นเรื่องข้อห้ามและบทลงโทษการใช้สิทธิและเสรีภาพ ไปกระทำการล้มล้างการปกครองประชาธิปไตย หรือกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองโดยไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ  แต่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่ใช่การใช้สิทธิและเสรีภาพ  หากแต่เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ของรัฐสภาตามมาตรา ๒๙๑ ซึ่งในประเด็นนี้ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยในคำร้องที่ ๒๙/๒๕๕๖ มีคำสั่งไม่รับคำร้องในลักษณะเดียวกันนี้ไว้วินิจฉัย ดังนั้น การวินิจฉัยในประเด็นนี้ของศาลรัฐธรรมนูญจึงกลับไปกลับมาโดยไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน
 
๓.​คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปเมื่อวันที่  ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เป็นคำวินิจฉัยที่น่าจะไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลว่า
​​(๑)​ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินไว้พิจารณา ทั้งๆที่กรณีมิใช่เรื่องที่บทบัญญัติแห่งกฎหมายมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๔๕
​​(๒) การที่ศาลรัฐธรรมนูญนำเอากรณีที่ไม่สามารถรับสมัครเลือกตั้งได้ใน ๒๘ เขตเลือกตั้งมาอ้างว่าถ้ามีการเลือกตั้งทั่วไปใน ๒๘ เขตเลือกตั้งในภายหลัง จะทำให้การเลือกตั้งทั่วไปไม่เป็นวันเดียวกัน ทั่วราชอาณาจักรนั้น เป็นการนำเอาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นภายหลังและไม่เกี่ยวข้องกับการกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปตามพระราชกฤษฎีกา มาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาวินิจฉัย ทั้ง ๆ ที่รัฐธรรมนูญมิได้บังคับว่าการเลือกตั้งทั่วไปจะต้องเกิดขึ้นในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร รัฐธรรมนูญเพียงแต่บัญญัติให้วันเลือกตั้งต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรเท่านั้น เพราะย่อมเป็นไปได้เสมอที่อาจเกิดเหตุจำเป็นหรือเหตุสุดวิสัยขึ้นในบางหน่วยเลือกตั้งอันอาจทำให้ไม่สามารถเลือกตั้งในวันที่กำหนดได้ ก็เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่จะต้องดำเนินการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ตามมาตรา ๒๓๖ ของรัฐธรรมนูญ  ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงมิได้บังคับให้การเลือกตั้งทั่วไปจะต้องเกิดขึ้นในวันเดียวกัน เพียงแต่การกำหนดวันเลือกตั้งต้องเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร แต่หากเกิดเหตุจำเป็นก็อาจจัดเลือกตั้งทดแทนเป็นวันอื่นๆ ได้
​​(๓) การที่ศาลรัฐธรรมนูญนำเอากรณีที่ไม่อาจรับสมัครเลือกตั้งใน ๒๘ เขตเลือกตั้งได้ มากล่าวอ้างให้การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งๆที่การรับสมัครเลือกตั้งก็เป็น ส่วนหนึ่งของการเลือกตั้ง ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจตามมาตรา ๒๓๖ แห่งรัฐธรรมนูญ ที่สามารถสั่งให้จัดการเลือกตั้งใหม่ได้ และศาลรัฐธรรมนูญมิได้พิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ที่ปรากฏว่าเหตุที่ไม่อาจรับสมัครเลือกตั้งใน ๒๘ เขตเลือกตั้งดังกล่าวเป็นเพราะมีผู้กระทำการขัดขวางการสมัครรับเลือกตั้งจนไม่อาจรับสมัครเลือกตั้งใน ๒๘ เขตเลือกตั้งได้ ซึ่งทำให้เกิดผลตามคำวินิจฉัยว่า คะแนนเสียงของประชาชนที่ไปออกเสียง เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ นั้น ถูกตัดสิทธิลงทั้ง ๆ ที่การใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชนดังกล่าว เป็นการทำหน้าที่โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว
 
 
 
​๔.​คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณีเงินกู้สองล้านล้านไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เป็นคำวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อนไปจากบทบัญญัติของกฎหมาย และเป็นการกลับหลักการเดิมที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้แล้ว ด้วยเหตุผลว่า
​​(๑)​การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เงินกู้ตามร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลัง   กู้เงินฯ (เงินกู้สองล้านล้าน) เป็นเงินแผ่นดินตามความหมายของรัฐธรรมนูญนั้น เป็นการตีความที่ถูกต้องหรือไม่ เนื่องจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเองก็มิได้มีการกำหนดความหมายของ “เงินแผ่นดิน” ไว้โดยชัดแจ้ง แต่ศาลกลับไปพิจารณาจากกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องประกอบความเห็นของพยานบุคคล แล้วตีความเอาเองว่าเงินกู้นี้เป็นเงินแผ่นดินตามความหมายของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการใช้ดุลพินิจตีความที่ไม่มีขอบเขตที่ชัดเจนแน่นอน
​​(๒)​กรณีที่ศาลวินิจฉัยว่า เงินกู้ตามร่างพระราชบัญญัตินี้นำไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ได้โดยไม่ต้องนำส่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญนั้น  น่าจะไม่สอดคล้องกับกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ ๑๑/๒๕๕๒ ว่าพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ (โครงการไทยเข้มแข็ง สมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์) ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ในมาตรา ๔ แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวก็ระบุว่า เงินที่ได้จากการกู้ ให้นำไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ในการกู้โดยไม่ต้องนำส่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ  ซึ่งเป็นถ้อยคำในลักษณะเดียวกันกับร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ (เงินกู้สองล้านล้าน) ที่ศาลวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ แสดงให้เห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญน่าจะขาดมาตรฐานในการวินิจฉัย
​​(๓)​ในเรื่องกระบวนการตรากฎหมาย การที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียบบัตรแทนกันเพียง ๑ คน แล้วไปตีความว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดทำไม่ถูกต้อง เป็นผลให้ลบล้างมติของสภาผู้แทนราษฎรนั้น ทำให้กฎหมายต้องตกไป  เป็นกรณีที่ศาลนำข้อเท็จจริงของคน ๆ เดียว มาผูกมัดคนทั้งสภาฯ ซึ่งจะกลายเป็นบรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้อง
​​(๔)​การที่ศาลวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัตินี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศไทยที่จะเสียโอกาสในการพัฒนาประเทศเพื่อให้ทัดเทียมและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับนานาชาติ อันจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชนโดยรวม 
​​
 
อนึ่ง จนถึงบัดนี้ คำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ก็ยังไม่มีการนำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา
 
ประการที่สาม กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะวินิจฉัยคำร้องขอให้ความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร  นายกรัฐมนตรี  สิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๘๒ วรรคหนึ่ง (๗) ประกอบกับมาตรา ๒๖๖ และมาตรา ๒๖๘  โดยเห็นว่ากระทำการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี นั้น จากการตรวจสอบพบว่า  ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีคำวินิจฉัยที่ ๑๒-๑๓/๒๕๕๑ วินิจฉัยคำร้องขอให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายสมัคร  สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๘๒ วรรคหนึ่ง (๗) ประกอบกับมาตรา ๒๖๗ กรณีเป็นลูกจ้างของบริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด โดยศาลรัฐธรรมนูญมิได้อ้างกฎหมายแต่อ้างพจนานุกรมแล้ววินิจฉัยว่า นายสมัครฯ กระทำการต้องห้ามตามมาตรา ๒๖๗ ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายสมัครฯ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามมาตรา ๑๘๒ วรรคหนึ่ง (๗) เป็นเหตุให้รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๑๘๐ วรรคหนึ่ง (๑) แต่ด้วยความเป็นรัฐมนตรีของนายสมัครฯ เป็นการสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ทำให้รัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรี
ที่เหลือจึงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งใหม่จะเข้ารับหน้าที่ตามมาตรา ๑๘๑ ซึ่งเป็นคำวินิจฉัยที่วางบรรทัดฐานในกรณีดังกล่าวไว้ ดังนั้น เมื่อคำร้องทั้งสองกรณีมีลักษณะทำนองเดียวกัน  หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านางสาวยิ่งลักษณ์ฯ กระทำการฝ่าฝืนมาตรา ๒๖๖ และมาตรา ๒๖๘ แล้ว ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า ผลของคำวินิจฉัยควรเป็นไป ในทิศทางเดียวกันหรือไม่ อย่างไร  หรือหากผลของคำวินิจฉัยแตกต่างกัน ก็จะทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ ถึงการพิจารณาวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญที่ขาดมาตรฐานและความน่าเชื่อถือตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
 
ประการที่สี่  ศอ.รส. ได้รับทราบข้อมูลด้านการข่าวว่า มีความพยายามของกลุ่มบุคคลที่สนับสนุนแนวทางที่จะทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง เรียกร้องให้การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีร้องขอให้วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๘๒ วรรคหนึ่ง (๗) ประกอบมาตรา ๒๖๖ และมาตรา ๒๖๘ กรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล    เปลี่ยนศรี ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย แล้ววินิจฉัยให้เกินเลยไปที่จากรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ถึงขั้นยกเว้นการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เช่น มาตรา ๑๘๑ เพราะจากข้อมูลที่ตรวจพบปรากฏว่า เรื่องการยกเว้นการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรานั้น เคยเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในปี ๒๔๗๖ โดยในครั้งนั้นได้กระทำด้วยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา คือ พระราชกฤษฎีกาให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรและตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ประกาศเมื่อวันที่ ๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๗๖  ดังนั้น การที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเกินเลยไปถึงการยกเว้นการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราจึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องและไม่สามารถกระทำได้
 
ประการที่ห้า จากการที่มีนักวิชาการ คือ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ได้กล่าวอภิปรายในโครงการสัมมนาทางวิชาการในวาระครบรอบ ๑๖ ปีศาลรัฐธรรมนูญ ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้จัด เรื่อง การปฏิรูปการเมืองภายใต้หลักนิติธรรม มีข้อความตอนหนึ่งว่า
​“คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายผูกพันทุกองค์กร ทั้งรัฐสภา คณะรัฐมนตรีและศาลซึ่งรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ และปี ๒๕๕๐ ได้บัญญัติไว้ แสดงให้เห็นว่า การยกสถานะศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่เท่าเทียมกับรัฐสภา เพื่อพิทักษ์กฎหมาย ควบคุมกฎหมาย เพื่อไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญ  รวมไปถึงการควบคุมการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภาด้วย จึงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเป็นการป้องกันเผด็จการรัฐสภา เพื่อไม่ให้องค์กรที่รัฐธรรมนูญตั้งขึ้นมาทำลายรัฐธรรมนูญเสียเอง”  
​คำอภิปรายดังกล่าวเห็นได้ว่า มีความมุ่งหมายที่จะแสดงความชอบธรรมว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญทุกเรื่อง  แม้ว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจไว้ และยืนกรานให้องค์กรอื่นต้องเคารพคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อตรวจสอบย้อนหลังไปในปี ๒๕๔๒ นายบวรศักดิ์ฯ กลับอธิบายเรื่อง เขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ในวารสารศาลรัฐธรรมนูญ ปีที่ ๑ เล่มที่ ๑ (มกราคม-เมษายน ๒๕๔๒) หน้า ๓๑-๓๒ ว่า
​“หากเกิดปัญหาเรื่องเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญขึ้น ผู้ที่จะมีอำนาจวินิจฉัยเรื่องเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญนั่นเองในทางกฎหมาย แต่ในเวลาเดียวกัน ในทางการเมือง องค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญก็ย่อมมีอำนาจและเอกสิทธิ์ที่จะพิจารณาการวินิจฉัยเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมูญว่าชอบหรือไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ หากเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปในทางขยายเขตอำนาจของตนจนทำลายเขตอำนาจของศาลอื่นหรือองค์กรอื่น องค์กรเหล่านั้นก็ย่อมทรงไว้ซึ่งสิทธิและอำนาจตามรัฐธรรมนูญที่จะดำเนินการเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะทำให้การใช้อำนาจมีการดุลคานกัน
 
 
 
ศาลแต่ละศาลเป็นใหญ่ในเขตอำนาจของตนไม่ได้ขึ้นต่อกัน . . . ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีอันอยู่ในเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายแล้วนั้นจึงจะผูกพันศาลอื่น  แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญไปวินิจฉัยคดีซึ่งไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ความผูกพันต่อศาลอื่นก็ไม่มี”
​จึงเห็นได้ว่าคำกล่าวของนายบวรศักดิ์ฯ เป็นเรื่องที่ขัดแย้งกันเอง และเห็นได้ชัดว่า นายบวรศักดิ์ฯ มีแนวคิดและความมุ่งหมายเป็นการแสดงความรับรู้การใช้อำนาจตามอำเภอใจของศาลรัฐธรรมนูญ และบังคับให้องค์กรอื่นที่มีสถานะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญดุจเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญต้องยอมรับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นการยกสถานะของศาลรัฐธรรมนูญในปัจจุบันให้อยู่เหนือองค์กรอื่นโดยเฉพาะฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร เป็นการสถาปนาอำนาจตุลาการโดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นรัฏฐาธิปัตย์ ทั้งที่ฝ่ายตุลาการเป็นหนึ่งในสามของอำนาจอธิปไตยเท่านั้น   ในขณะที่ทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติมาจากการเลือกตั้งของประชาชน การที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเหนือฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติจึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะจะไม่มีองค์กรใดสามารถตรวจสอบการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ เป็นการปูทางสู่คำวินิจฉัยที่จะสร้างสุญญากาศทางการเมืองตามที่กลุ่ม กปปส. และกลุ่มเคลื่อนไหวบางกลุ่มต้องการเพื่อนำไปสู่การทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ซึ่งมีการอ้างมาตรา ๓ และมาตรา ๗ ในขณะที่กลุ่ม นปช. และกลุ่มเคลื่อนไหวบางกลุ่มก็จะไม่ยอมรับการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เกินจากรัฐธรรมนูญเช่นนี้ ซึ่งขณะนี้ก็ได้ปรากฏเป็นข้อมูลและข้อเท็จจริงของการเผชิญหน้าและการท้าทายที่จะจัดการชุมนุมใหญ่ด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย และจะนำไปสู่การปะทะกันและก่อเหตุร้ายต่อกันและกันแล้ว
 
 
ประการที่หก จากการที่นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ  หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ทำข้อเสนอโดยอ้างว่าเป็นทางออกประเทศไทย พร้อมกับอวดอ้างว่าเป็นแนวทางที่ดีที่สุดกับสถานกาณ์ขณะนี้ แต่กลับเสนอวิธีดำเนินการโดยไม่มีกฎหมายรองรับ โดยเฉพาะเป็นข้อเสนอที่ฝ่าฝืนกฎหมายด้วยการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีลาออกโดยไม่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญมาตรา ๑๘๑ กำหนดให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ แต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เสนอให้ลาออกโดยไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเพื่อให้เกิดสุญญากาศ ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ เลี่ยงไปใช้คำว่าถอยออกจากอำนาจแล้วให้วุฒิสภาสรรหานายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี และทูลเกล้าฯ แต่งตั้ง โดยอ้างว่านายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะอยู่ในตำแหน่งเพียงชั่วคราว ซึ่งข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เช่นนั้นไม่มีกฎหมายใดให้กระทำได้ เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญนายกรัฐมนตรีจะต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร และดำเนินการเสนอแต่งตั้งโดยสภาผู้แทนราษฏรเท่านั้น
 
 
ข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ เช่นนี้ แท้จริงแล้วเป็นข้อเสนอเพื่อปูทางหรือสนับสนุนให้ศาลรัฐธรรมนูญได้พิพากษางดใช้มาตรา ๑๘๑  หรือพิพากษาให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีพ้นไปโดยถือว่าเป็นกรณีไม่ต้องด้วยมาตรา ๑๘๑ นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ ย่อมรู้ดีว่า ข้อเสนอของตนเป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีปฏิบัติไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายรองรับและยังขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๘๑ ด้วย ดังนั้น ความมุ่งหมายอันแท้จริงของนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ จึงมีอย่างเดียวคือโน้มน้าวชักจูงให้ประชาชนหลงเชื่อโดยเข้าใจผิดไปว่าสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังจะพิจารณาพิพากษาให้เกิดสุญญากาศนั้นเป็นความเหมาะสมที่พึงกระทำได้ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ฉะนั้นข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เรียกว่าทางออกของประเทศไทยแท้จริงแล้วก็คือหนึ่งในกระบวนการที่จะทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองแล้วแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีคนนอกที่ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย และประการสำคัญเป็นการกระทำฝ่าฝืนหรือกระทำการนอกรัฐธรรมนูญนั่นเอง
 
 
 
​ศอ.รส. จึงขอเรียกร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญด้วยความเคารพต่อองค์กรและเห็นถึงความสำคัญ  ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาและวินิจฉัยคดีอย่างตรงไปตรงมา เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญโดยยึดถือจริยธรรมตามรัฐธรรมนูญและคำถวายสัตย์ปฏิญาณที่ไห้ไว้ต่อพระมหากษัตริย์ก่อนเข้ารับหน้าที่ และขอให้กลุ่มบุคคลอันได้แก่นักวิชาการต่างๆ โดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ ที่สนับสนุนแนวทางที่จะทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง ยุติบทบาทการแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสาธารณชน  ทั้งนี้ ศอ.รส. ขอยืนยันว่ามิได้มีเจตนาที่จะก้าวล่วงหรือกดดันการพิจารณาวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด แต่ขณะนี้มีกลุ่มมวลชนจำนวนมากทั้งสองฝ่ายกำลังรอคอยผลการพิจารณาพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ หากคำพิพากษาไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวมาแล้ว ย่อมจะเกิดความไม่พอใจขยายตัวในวงกว้างและเกิดการใช้กำลังเข้าปะทะกัน การดำเนินการของ ศอ.รส. โดยแถลงการณ์ที่มีข้อเรียกร้องในครั้งนี้จึงเป็นการป้องกัน ระงับ ยับยั้งและแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นตามภารกิจและอำนาจหน้าที่อันเป็นความจำเป็นที่ไม่อาจจะละเลยเสียได้
 
 
อนึ่ง แถลงการณ์ฉบับนี้เป็นความเห็นและดำเนินการของ ศอ.รส. โดยไม่ได้ขอให้ฝ่ายทหารร่วมมีความเห็นและดำเนินการด้วย  
​​​​​จึงแถลงการณ์มาเพื่อทราบทั่วกัน
​​​​​​​ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย
​​​​​​​​​๖  พฤษภาคม ๒๕๕๗
----------------------------------------​

 

ข่าวล่าสุด

ข่าวที่น่าสนใจ