แถลงการณ์ศูนย์รักษาความสงบ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2557
เผยแพร่: 20 ก.พ. 2557 14:04 น. ปรับรุง: 20 ก.พ. 2557 14:04 น. เปิดอ่าน 1333 ครั้งแถลงการณ์ศูนย์รักษาความสงบ ตามที่ได้มีกลุ่มบุคคลดำเนินการในลักษณะที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายและนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ จนกระทั่งรัฐบาลได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ลงวันที่ 21 มกราคม 2557 และได้มีการจัดตั้งศูนย์รักษาความสงบเพื่อดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพแล้วนั้น ที่ประชุมศูนย์รักษาความสงบ หรือ ศรส. เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2557 เห็นสมควรมีแถลงการณ์ถึงพี่น้องประชาชนดังต่อไปนี้
ศรส.ได้รับทราบคำพิพากษาของศาลแพ่งที่ได้นั่งพิจารณาและอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟังแล้ว ศรส.ขอเรียนพี่น้องประชาชนว่า การที่รัฐบาลได้ใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย คือ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ นั้น ก็เพื่อจัดให้มีหน่วยงานในลักษณะพิเศษ คือ ศรส.เข้ามาทำหน้าที่แก้ไขปัญหาของบ้านเมืองในภาวะไม่ปกติและเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ให้สามารถคลี่คลายนำความสงบสุขกลับสู่ประเทศชาติได้ดังเดิมโดยเร็วที่สุด ศรส.จึงไม่ใช่ศัตรูหรือคู่ขัดแย้งกับ กปปส. แต่ ศรส. มีหน้าที่รักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย และโดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและเป็นธรรมเพื่อนำสังคมและประเทศชาติกลับสู่ความสงบสุขโดยเร็ว ซึ่งนับแต่รัฐบาลได้ประกาศจัดตั้ง ศรส. เป็นต้นมาถึงวันนี้รวม 31 วัน ศรส.โดยเจ้าหน้าที่ทุกคน ก็ได้มุ่งมั่นปฏิบัติภารกิจตามอำนาจหน้าที่อย่างเต็มที่ อาทิเช่น สามารถดำเนินการให้สถานที่ราชการกลับมาเปิดทำการเพื่อให้บริการประชาชนได้ถึง 53 แห่งแล้วจากการที่ กปปส. ได้ดำเนินการปิดกรุงเทพมหานคร และสถานที่ราชการทุกแห่งไว้ อีกทั้งสามารถดำเนินคดีที่ กปปส. ขัดขวางการเลือกตั้ง ได้ถึง 332 คดี และศาลออกหมายจับให้แล้ว 118 คน ได้ตัวมาดำเนินคดีแล้ว 35 คน นอกจากนี้ยังดำเนินคดีกับแกนนำ กปปส. ได้ 58 คน ในข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญา คือ
1) ร่วมกันกระทำการเป็นกบฏตามมาตรา 113 และมาตรา 114
2) ร่วมกันยุยงส่งเสริมให้ประชาชนล่วงละเมิดต่อกฎหมาย ตามมาตรา 116 และ
3) ร่วมกันมั่วสุมให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามมาตรา 215 รวมทั้งศาลได้ออกหมายจับ ประเภทหมาย ฉ. ให้แล้ว 19 คน กับที่ศาลนัดฟังคำสั่งในวันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2557 อีกจำนวนหนึ่ง ตลอดจนได้บริหารจัดการเรื่องที่มีความสำคัญต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่องจนถึงวันนี้ เจ้าหน้าที่ของ ศรส.ทุกคนล้วนมีหน้าที่ต้องปฏิบัติเพื่อให้ภารกิจลุล่วง และหากผู้ใดกระทำการเกินอำนาจหน้าที่หรือผิดกฎหมายก็จะต้องมีความรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญาในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ด้วยความเคารพต่อคำพิพากษาของศาลแพ่ง แต่เห็นแตกต่างในข้อกฎหมาย ศรส.จึงรู้สึกกังวลใจแทนพี่น้องประชาชนเป็นอย่างยิ่ง เพราะ ศรส.ได้ถูกสั่งโดยคำพิพากษาให้ยุติภารกิจอันเป็นอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย โดยการจำกัดหน้าที่อันจำเป็นที่จะต้องกระทำเป็นอย่างมากมาย โดยเฉพาะข้อห้ามกระทำการถึง 9 ข้อ ซึ่งล้วนเป็นสาระสำคัญที่ ศรส. จะต้องใช้เพื่อแก้ไขปัญหาของความไม่สงบในขณะนี้ และนับจากวันนี้เป็นต้นไป ศรส. ก็จะไม่สามารถปฏิบัติภารกิจได้หลายเรื่องจนอาจเกิดความเสียหาย อาทิเช่น การแก้ไขปัญหามิให้ กปปส. ออกมาขัดขวางการเลือกตั้งซึ่งกำลังจะมาถึงในเร็ววัน การเข้าปิดล้อม ปิดสถานที่ราชการให้กลับไปปิดการให้บริการประชาชนอีก และการกระทำของ กปปส. ต่าง ๆ นานา ซึ่งสังคมและพี่น้องประชาชนก็พบเห็นอยู่แล้วว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และมีแต่จะสร้างความเสียหายต่อบ้านเมืองมากขึ้นอยู่ตลอดเวลา กรณีที่ศาลแพ่งอ้างผลของคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญที่เคยวินิจฉัยไว้ว่า การชุมนุมของ กปปส. เป็นไปโดยสงบ เปิดเผย และปราศจากอาวุธ จึงเป็นการชุมนุมโดยชอบนั้น ศรส.เห็นว่า การวินิจฉัย ของศาลรัฐธรรมนูญเช่นนั้น เป็นข้อเท็จจริงในการชุมนุมช่วงแรกของ กปปส. แต่ครั้นต่อมาเมื่อเงื่อนไขของการชุมนุมคือการต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมได้จบสิ้นไปแล้ว กปปส. ก็มิได้เลิกการชุมนุมกลับยกระดับเป็นการชุมนุมขับไล่รัฐบาล มีการปลุกระดม เชิญชวน ทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาและการสื่อสารด้วยวิธีการต่าง ๆ อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายของรัฐบาลและกฎหมาย เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่ทำให้เกิดความไม่สงบขึ้นในหลายพื้นที่และให้มีการล่วงละเมิดต่อกฎหมายแผ่นดิน มีการประกาศจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล จัดตั้งสภาประชาชนโดยไม่มีกฎหมายรองรับ จัดตั้งกองกำลังอาสาสมัครรักษาการแทนตำรวจขึ้นเป็นการเฉพาะ บุกรุกและปิดยึดสถานที่ราชการ ขับไล่ข้าราชการให้เลิกปฏิบัติหน้าที่ การสั่งให้หยุดงาน การสั่งให้หยุดการเสียภาษี ตัดน้ำตัดไฟสถานที่ราชการ ตั้งกองกำลังไล่ล่านายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี เพิ่มเวทีการชุมนุมมากขึ้น ปิดการจราจรในถนนสำคัญ ๆ จนถึงประกาศปิดกรุงเทพมหานคร รวมถึงกระทำผิดกฎหมายอย่างร้ายแรงด้วยการขัดขวางการเลือกตั้งทั้งในกรุงเทพมหานครและหลายจังหวัดในภาคใต้ เป็นต้น ดังนั้น การกระทำของ กปปส. แม้จะชอบด้วยกฎหมายในช่วงแรก แต่หากต่อมาเป็นไปโดยผิดกฎหมายก็จะต้องพิจารณาแยกส่วนกัน มิใช่ว่าจะกระทำใด ๆ ก็ได้ตามอำเภอใจก็จะกลายเป็นชอบ ไปหมดทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ ศาลอาญาจึงได้ออกหมายจับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ พร้อมแกนนำอีกหลายคนในข้อหาเป็นกบฏ โดยศาลอาญาก็วินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงเป็นคนละกรณีกับที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ศรส.ขอยืนยันว่า จะได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลแพ่งตามกฎหมายต่อไป แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ซึ่งจะต้องใช้เวลานานพอสมควรนั้น ศรส.มีความกังวลใจเป็นอย่างยิ่งที่ ศรส.และเจ้าหน้าที่ของ ศรส.ทุกคนจะไม่สามารถปฏิบัติภารกิจโดยเฉพาะส่วนที่เป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ เพราะคำพิพากษาของศาลแพ่งที่สั่งห้าม ศรส.ทั้ง 9 ข้อ ดังที่ทราบกันแล้ว สภาวะเสมือนสูญญากาศที่ขาดการบังคับใช้กฎหมายเช่นนี้ จึงเป็นความเสี่ยงสูงต่อการที่สังคมจะเพิ่มความขัดแย้งและความไม่สงบสุขมากขึ้นอีก เพราะกลุ่มประชาชนทั้งที่เห็นด้วยกับ กปปส. และที่ไม่เห็นด้วยต่างก็มีจำนวนมากมายด้วยกันทั้งคู่และด้วยความเดือดร้อนของประชาชนด้วยการกีดขวางการจราจรตามถนนและสี่แยกต่าง ๆ เพราะ กปปส.สามารถเคลื่อนการชุมนุมไปตามสถานที่ต่าง ๆ ได้โดยเสรีตามใจชอบ จนเกิดภาวะวิกฤติในเมืองหลวงของประเทศ การปิดล้อมสถานที่ราชการ การขัดขวางการเลือกตั้งซึ่งจะต้องเกิดขึ้นอีกแน่นอน โดยเฉพาะความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจซึ่งเกิดขึ้นทุก ๆ มิติและทวีความรุนแรงมากขึ้น จึงอาจเกิดการกระทบกระทั่งและเข้าจัดการกันเองได้ เพราะภาครัฐไม่อาจบังคับใช้กฎหมายได้ ซึ่งจะเป็นสภาวะที่ไม่พึงประสงค์เป็นอย่างยิ่ง ศรส.จึงแสดงความเสียใจต่อพี่น้องประชาชนที่ ศรส. ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ตามความคาดหวังของพี่น้องประชาชนได้ เนื่องจากศาลแพ่งมีคำสั่งดังกล่าว
จึงแถลงมาเพื่อทราบทั่วกัน
ศูนย์รักษาความสงบ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2557