รายงานความคืบหน้าการดำเนินคดีแกนนำ กปปส. จำนวน ๕๘ คน
published: 20/3/2557 17:05:15 updated: 20/3/2557 17:05:15 1547 views THรายงานความคืบหน้าการดำเนินคดีแกนนำ กปปส. จำนวน ๕๘ คน กคพ. มีมติ เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๖ ให้การดำเนินการกรณี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับพวก ถูกกล่าวหากระทำความผิดอาญาสืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองในพื้นที่กรุงเทพมหานครและบางจังหวัด ตั้งแต่วันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๖ เป็นต้นมา รวมถึงบุคคลอื่นที่มีส่วนในการกระทำความผิดด้วย และความผิดที่ต่อเนื่องหรือเกี่ยวพันกัน เป็นคดีพิเศษ ในการสอบสวนได้ร่วมกันสอบสวน ๓ ฝ่าย โดยมีพนักงานสอบสวนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานอัยการสูงสุด (อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน ) การประชุมคณะพนักงานสอบสวนได้เห็นชอบแจ้งข้อกล่าวหา ผู้ต้องหาจำนวน ๕๘ คน ในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ (ม.๑๑๓) , สมคบ ตระเตรียม สะสมกำลังพลเพื่อเป็นกบฏ (ม.๑๑๔) , ร่วมกันยุยงให้ประชาชนละเมิดกฎหมาย (ม.๑๑๖) , ร่วมกันยุยงให้ประชาชนร่วมปิดงานงดจ้าง (ม.๑๑๗) , มั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง (ม.๒๑๕) , เจ้าพนักงานสั่งให้เลิกไปแต่ไม่เลิก (ม.๒๑๖) รายละเอียดปรากฎตามเอกสารแนบ ขณะนี้ศาลอาญาได้ออกหมายจับผู้ต้องหาไว้รวม ๖ คน
๔.๑ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ
๔.๒ นายนิติธร ล้ำเหลือ
๔.๓ นายอุทัย ยอดมณี
๔.๔ นายรัชช์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี หรือ อมร อมรรัตนานนท์
๔.๕ นายพิชิต ชัยมงคล
๔.๖ นายกิตติชัย ใสสะอาด
พนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหา กลุ่มที่ ๑ และกลุ่มที่ ๒ ทั้งหมดจำนวน ๓ ครั้ง ส่วนกลุ่มที่ ๓ จำนวน ๒ ครั้ง แต่ผู้ต้องหาไม่มาตามหมายเรียก โดยมีหนังสือแจ้งขอเลื่อนไปโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควร ขณะนี้มีการจับกุมตัวนายพิชิต ชัยมงคล และนายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรมมาดำเนินคดีแล้ว และศาลอาญาได้ให้ประกันตัวไปโดยมีเงื่อนไขห้ามยุยง ปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง สิ่งที่จะดำเนินการเพิ่มเติม คือ จะแจ้งข้อหาในเรื่องการขัดขวางการเลือกตั้งกับแกนนำเพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่ง เนื่องจากถือเป็นคดีที่ต่อเนื่อง เกี่ยวพันกับคดีพิเศษ สำนวนการสอบสวนจะเร่งสรุปมีความเห็นทางคดีโดยอาจมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมดส่งให้พนักงานอัยการ ประมาณวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๗ โดยถือว่าเป็นกรณีมีตัวผู้ต้องหา ( นายสนธิญาณฯ และนายพิชิตฯ) ส่งให้พนักงานอัยการ ซึ่งคาดว่าพนักงานอัยการอาจจะมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมดได้โดยเร็ว หากในที่สุดเมื่อพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องแล้ว จะสั่งให้พนักงานสอบสวนจัดการให้ได้ตัวมาฟ้อง เมื่อพนักงานสอบสวนจะได้รับแล้วจะนำไปขอหมายจับต่อศาล ซึ่งในข้อบังคับประธานศาลฎีกา ถือว่าคำสั่งฟ้องของพนักงานอัยการ เป็นหลักฐานตามสมควรว่าผู้ต้องหาน่าจะได้กระทำผิดอาญาแล้ว จึงเป็นเงื่อนไขที่ศาลจะต้องออกหมายจับให้