DSI สนธิกำลังร่วมกับ กรมปศุสัตว์ จับสินค้าสำแดงเท็จประเภทเนื้อสัตว์ มูลค่าความเสียหายกว่า 10 ล้านบาท
เผยแพร่: 14 ก.พ. 2565 11:40 น. ปรับปรุง: 25 มี.ค. 2565 14:42 น. เปิดอ่าน 1406 ครั้ง ENDSI สนธิกำลังร่วมกับ กรมปศุสัตว์ จับสินค้าสำแดงเท็จประเภทเนื้อสัตว์ มูลค่าความเสียหายกว่า 10 ล้านบาท
ตามที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายให้หน่วยงานต่างๆ ตรวจสอบเครือข่ายกระบวนการกักตุนสินค้าประเภทเนื้อสุกรเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า เพื่อป้องกันมิให้กลุ่มผู้ไม่หวังดีอาศัยโอกาสที่สินค้าเนื้อสุกรขาดตลาด มากักตุนสินค้าเพื่อให้มีราคาสูงขึ้น อันเป็นการซ้ำเติมพี่น้องประชาชน รวมทั้งการลักลอบนำเนื้อสุกรจากต่างประเทศที่มิได้ผ่านพิธีการทางศุลกากรและการตรวจของกรมปศุสัตว์ เข้ามาในราชอาณาจักร อันอาจนำเชื้อโรคมาแพร่ระบาดในประเทศและกระทบต่อผู้เลี้ยงและผู้ผลิตเนื้อสุกรในประเทศ ดังนั้น นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงสั่งการให้กองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีพื้นที่รับผิดชอบอาชญากรรมพิเศษทั่วประเทศ บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละพื้นที่ เพื่อดำเนินการป้องกันปราบปรามการกระทำผิดดังกล่าวโดยเร่งด่วน ซึ่งกรณีการลักลอบนำเข้าสินค้าประเภทเนื้อสัตว์จากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักร โดยสำแดงรายการประเภทสินค้าอันเป็นเท็จ ซึ่งเป็นสินค้าต้องห้าม ต้องกำกัดและเป็นสินค้าควบคุมและเกี่ยวข้องกับโรคระบาด อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 อันส่งผลให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม รวมทั้งมีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนด้านสาธารณสุข
วานนี้ (วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2565) ภายใต้การอำนวยการของ พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และนายมเหสักข์ พันธ์สง่า ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค ได้สั่งการให้ นายวรพจน์ ไม้หอม รองผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษ พร้อมคณะ สนธิกำลังร่วมกับพนักงานเจ้าหน้าที่กองสารวัตรและกักกัน กรมปศุสัตว์ ร่วมบูรณาการเข้าตรวจสอบห้องเย็นแห่งหนึ่งในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งจากการสืบสวนหาข่าวได้รับข้อมูล ทราบว่ามีการลักลอบนำเข้าเนื้อสัตว์จากต่างประเทศเข้ามาโดยไม่รับอนุญาตโดยสำแดงรายการสินค้าประเภทอื่นอันเป็นเท็จ มีการขนถ่ายโดยรถบรรทุกตู้สินค้าขนาดใหญ่ออกจากท่าเทียบเรือแห่งหนึ่งในพื้นที่ภาคตะวันออก ไปเก็บไว้ที่ห้องเย็นดังกล่าว ผลการตรวจค้นพบกล่องสินค้าต้องสงสัยภายในห้องเย็นหมายเลข 1 สำแดงในใบขนสินค้าเป็น Frozen Product ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นเนื้อสุกรที่ไม่มีเอกสารการนำเข้าจากกรมปศุสัตว์ (ร.7) เอกสารการเคลื่อนย้าย หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องอื่นมาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จากกรมปศุสัตว์ ซึ่งมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 จึงได้ทำการอายัดกล่องสินค้าต้องสงสัยไว้ จำนวน 945 กล่อง น้ำหนัก 21,473 กิโลกรัม ประเมินค่าความเสียหายประมาณ 10 ล้านบาท
โดยจากการข่าวพบว่ามีกลุ่มเครือข่ายผู้นำเข้าและตัวแทนนำเข้าหลายรายมีความเกี่ยวข้องกับขบวนการดังกล่าว และยังคงมีสินค้าข้างต้นตกค้างอยู่ในพื้นที่ ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยกองปฏิบัติการ
คดีพิเศษภาค จะเร่งดำเนินการสืบสวนขยายผลบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ ต่อไป
************************************************
ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2565