DSI รับสอบสวนกรณี บริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด หรือบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เป็นคดีพิเศษ
เผยแพร่: 5 มี.ค. 2564 19:57 น. ปรับปรุง: 25 มี.ค. 2564 11:07 น. เปิดอ่าน 3861 ครั้ง ENDSI รับสอบสวนกรณี บริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด หรือบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เป็นคดีพิเศษ
สืบเนื่องจากกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้มีการดำเนินคดีกับบริษัทอัครา ไมนิ่ง จำกัด หรือบริษัทอัครา รีซอร์สเซสจำกัด ในความผิดอันเนื่องมาจากการเข้าดำเนินธุรกิจเหมืองทองคำ หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ “เหมืองทองอัครา” ในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดพิจิตร รวม 2 คดีมาก่อนหน้านี้ โดยสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษทั้ง 2 คดีดังกล่าว คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้สรุปและมีความเห็นส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ และสำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว และกรมสอบสวนคดีพิเศษยังคงสืบสวนในประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องตลอดมา ต่อมา กลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ โดยนางอารมย์ คำจริง กับพวก ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อติดตามความคืบหน้าผลการดำเนินคดีกับบริษัทฯ ดังกล่าวในหลายกรณี กล่าวคือ การถือครองหุ้นแทนบุคคลต่างด้าว ในลักษณะนอมินีในการประกอบกิจการเหมืองทองคำ การทำเหมืองแร่นอกเขตประทานบัตร การปล่อยให้สารพิษรั่วไหลก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยของประชาชนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับเหมืองแร่ รวมทั้งความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงินและการหลบเลี่ยงภาษี
ในเรื่องดังกล่าว พันตำรวจโท กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานสืบสวนหลายชุด เพื่อตรวจสอบและสืบสวนหาข้อเท็จจริง เกี่ยวกับเรื่องที่มีการร้องเรียนดังกล่าว โดยเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มีคำสั่งให้กรณีการถือครองหุ้นแทนบุคคลต่างด้าวของ บริษัทอัคราไมนิ่ง จำกัด หรือ บริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 อันเข้าลักษณะของการกระทำความผิดตามประกาศ กคพ. (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 เรื่อง กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษ ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 เป็นคดีพิเศษ และได้มอบหมายให้พันตำรวจโทสุภัทธ์ ธรรมธนารักษ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และเร่งรัดให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
สำหรับประเด็นตามข้อร้องเรียนอื่น ๆ ได้มอบหมายให้ พันตำรวจโท สุภัทธ์ ธรรมธนารักษ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินการตรวจสอบว่า คดีพิเศษที่ได้ดำเนินการไปก่อนหน้านั้น มีประเด็นซ้ำซ้อนกับเรื่องที่มีการร้องเรียน และดำเนินการไปโดยเรียบร้อยหรือไม่ พร้อมทั้งประสานงานพนักงานอัยการ และสำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ได้รับสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษจากคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ที่มีการสอบสวนไว้แล้ว เพื่อตรวจสอบและดำเนินการตามข้อร้องเรียนของกลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ ต่อไป
ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ มิได้นิ่งนอนใจ เห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นที่สนใจของประชาชน และกระทบต่อประโยชน์ของสาธารณะ จึงได้เร่งรัดให้ผู้ที่รับผิดชอบดำเนินการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง และขอให้ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือได้รับผลกระทบ สามารถที่จะให้ข้อมูลต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ตลอดเวลา หากมีผลการดำเนินการเพิ่มเติมจะแจ้งความคืบหน้าให้ทราบโดยเร็วต่อไป
************************************************
ลงวันที่ 5 มีนาคม 2564