พนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย เข้าพบอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อขอบคุณที่ให้ความเป็นธรรม
เผยแพร่: 1 พ.ค. 2566 21:05 น. ปรับรุง: 8 พ.ค. 2566 13:49 น. เปิดอ่าน 1031 ครั้ง ENพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย เข้าพบอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อขอบคุณที่ให้ความเป็นธรรม
วันนี้ (วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ) นายกฤษฎา อินทามระ ทนายความ พร้อมด้วยพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย จำนวนกว่า 100 คน เดินทางมาเข้าพบ พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วยร้อยตำรวจเอก วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และ ร้อยตำรวจเอก สุรวุฒิ รังไสย์ ผู้อำนวยการกองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ เพื่อมอบดอกไม้และกล่าวขอบคุณกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่ดำเนินคดีตามพยานหลักฐานและให้ความเป็นธรรมแก่พนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย
สืบเนื่องจาก กรณีพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย ร้องขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษตรวจสอบ กรณี การทุจริตเบิกจ่ายค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดของพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย แล้วใช้เอกสารแห่งการทุจริตดังกล่าว ฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลาง เพื่อเรียกร้องเพิ่มเติมในห้วงเวลา พ.ศ. 2545 - พ.ศ. 2555 และคณะกรรมการคดีพิเศษในการประชุมครั้งที่ 6/2556 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2556 มีมติให้กรณีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษที่ 4/2557 โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ดำเนินการสอบสวนคดีนี้มีพยานหลักฐานเชื่อว่ามีผู้บริหารและพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย รวม 36 ราย และทนายความ 1 ราย รวม 37 ราย ร่วมกันกระทำการทุจริตเบิกจ่ายเงิน ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานและค่าล่วงเวลาในวันหยุด โดยร่วมกันจัดทำเอกสารใบเบิกเงิน ค่าล่วงเวลา ค่าทำงาน และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดฐาน “ร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสารอันเป็นเท็จ ร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ร่วมกันก่อให้ผู้อื่นเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล และนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอันเป็นเท็จ”
ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ มุ่งมั่นในการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษ และการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนเพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมตามกฎหมาย ต่อไป